บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

มาออกกำลังกายกันเถอะ เดินวันละ 10,000 ก้าว ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

การออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์มากมาย วันนี้จะมาแนะนำวิธีการออกกำลังกายอย่างง่าย ๆ นั้นคือการเดิน
การเดินมีประโยชน์กว่าที่คิด มีอะไรบ้าง
1. ลดอัตราการเสียชีวิต จากโรค NCDs ( โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ )  19-30% ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของการออกกำลัง ถ้าออก แบบ moderate intensity คือ เดินให้หัวใจเต้น ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ได้ นาน 30 นาทีต่อวัน และ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะลดอัตราการเสียชีวิต ถึง 19% ทีเดียว แต่ถ้าออกเบากว่านี้ก็ยังได้ประโยชน์ คือ ถ้าเดินวันละ 15 นาทีจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ 4 %
2. ลดน้ำหนัก การเดินในอัตราเดินชิว ๆ ( 2 mph ) หรือ 3 km/h จะเผาพลาญพลังงานเท่ากับน้ำหนักเป็นกิโลกรัม สมมุติว่าเดินได้ 30 นาที เท่ากับ 1 mile น้ำหนัก 50 kg จะเผาผลาญได้ 50 kcal แต่ถ้าเดินได้ 1 ชั่วโมงก็จะได้ 100 kcal ความเร็วเท่าไหร่ ลองไปขึ้นเครื่องดูค่ะ ถ้าหิ้วของด้วยก็จะ burn ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นคนขยันเดิน จะทำให้อายุยืนค่ะ
3. ฉะลอการเป็นโรค สมองเสื่อม (  Alzheiemer 's disease ) ได้ ช้าไป 5 ปี สำหรับคนที่มีปัจจัยเสี่ยง
4. ลดความดันโลหิตลงได้ 5 mmHg.
5. ลดอัตราการเกิดโรคเบาหวาน และการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
6. เพิ่มเอ็นโดฟิน ทำให้มีความสุขมากขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น
7. เพิ่มมวลกระดูก ป้องกันกระดูกหัก
8. ป้องกันการเป็นมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะในผู้หญิงลดได้ถึง 31%
9. ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และเพิ่มความสมดุล ป้องกันการล้ม และไหล่ในผู้สูงอายุ
10.  เพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อหวัด และเชื้อโรคอื่น

มีประโยชน์ มากขนาดนี้ลุกขึ้นมาทำเถอะค่ะ แค่เดิน ถ้าเดินไม่ได้ก็แค่แกว่งแขนไม่ต้องรอเตรียมชุด ไม่ต้องรอซื้อจักรยาน ไม่ต้องรอซื้อรองเท้า ทำทุกครั้งที่นึกได้และพร้อมค่ะ


วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วันนี้ขอเขียนเรื่อง หัวใจโต ? 
เวลาเราไปตรวจสุขภาพ มักจะได้ผลตรวจสุขภาพ มาว่ามีหัวใจโตเล็กน้อย ! โปรดปรึกษาแพทย์ อะไรทำนองนั้น 
คำว่าหัวใจโต จากรายงานการตรวจร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วจะได้จากการตรวจคลื่นหัวใจ ( EKG ) หรือตรวจเงาหัวใจจาก การทำเอกซเรย์ ทรวงอก ( Chest X-ray ) 
แล้วมันอันตรายไหมคะ ? 
ไม่ต้องตกใจค่ะ หัวใจโตเล็กน้อย เป็นเพียงเงาของหัวใจ หรือ การตรวจไฟฟ้าหัวใจเท่านั้น คำว่าโตมักจะหมายถึงโตกว่าค่ามาตฐานทั่วไป แต่อาจจะเป็นค่าปรกติของเราเองก็ได้ เพราะฉะนั้น อาจไม่มีอะไร ในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ทางโรคหัวใจ 

แต่สำหรับคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง การมีหัวใจโตกว่าค่าปรกติ มีความหมาย ที่บ่งบอกว่าเรามีความดันโลหิตสูงมานานจนกระทั่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปรกติ และมีผลต่อหัวใจในระยะยาว 
เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง แล้วตรวจสุขภาพ พบหัวใจโต ควรจะกลับมาพิจารณาว่า เรารักษาระดับความดันโลหิตได้ดีหรือไม่ ควรจะมีการตรวจความดันโลหิตที่บ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าเรารักษาระดับความดันโลหิตได้ต่ำว่าระดับที่ควรจะเป็นหรือไม่ ? 
สำหรับบุคคลที่สุขภาพแข็งแรง เมื่อได้รับผลการตรวจว่าหัวใจโต ไม่ต้องตกใจ ให้นำมาปรึกษากับแพทย์หัวใจสักครั้งเพื่อดูความรุนแรงของหัวใจโตนั้น และติดตามดูในปีต่อไปค่ะ 

สรุป ใจใหญ่ ใจโต ไม่ดีนะคะ ใจเล็กไม่มีปัญหา แต่อย่าใจน้อยละกันคะ 
แพทย์หญิง ธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์
 
ภาคคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่บ่งบอกลักษณะหัวใจโต

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เจ็บอกใครคิดว่าไม่สำคัญ



เจ็บอกใครคิดว่าไม่สำคัญ
มันแน่นอก ก็ยกออก ให้แบกเอาไว้นานไปหัวใจถลอก
ที่สำคัญไม่ใช่เพราะเป็นเพลงฮิตติดหู ไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่เป็นเพราะบริเวณหน้าอกนี้เป็นที่อยู่ของอวัยวะที่สำคัญกับร่างกายมาก ๆ ถ้าเกิดความผิดปรกติแล้วจะมีอันตรายถึงชีวิตนั่นเอง อวัยวะที่สำคัญดังกล่าวนี้ก็คือ หัวใจ และหลอดเลือดแดงใหญ่นั่นเอง
ถ้าถามว่าในที่นี้มีใครบ้างไม่เคยเจ็บหน้าอกบ้างยกมือขึ้น คงจะแทบไม่มีเลย เพราะคำว่าเจ็บหน้าอกนั้นกว้างเหลือเกิน แล้วอาการเจ็บแบบไหนล่ะที่ว่าสำคัญ เราสามารถแยกแยะอาการเจ็บได้ไหมว่าแบบไหนอันตราย แบบนั้นไม่อันตราย
อาการเจ็บหน้าอกที่มีความสำคัญ และต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน โดยไม่ต้องรีรอ
1.      อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นมาฉับพลัน และเจ็บมากจนทนไม่ไหว เป็นครั้งแรกในชีวิต
2.      อาการเจ็บหน้าอกที่ร่วมกับอาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้
3.      อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่ร่วมกับอาการเหงื่อออกทั่วตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ( ไม่ใช่เหงื่ออกที่มือนะ ) เป็นอาการเหงื่อออกทั้งตัว ร่วมกับตัวเย็น
4.      อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เป็นร่วมกับอาการเป็นลมหมดสติ วูบ
5.      อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่พบในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เรื่องหลอดเลือดหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันไขมันในเลือดสูง หรือผู้ป่วยที่เคย ทำบัลลูนหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ป่วยที่เคยทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ลักษณะอาการเจ็บแน่น ๆ เป็นมากขึ้นเวลาออกแรง หรือยกของหนัก นั่งพักแล้วดีขึ้น
อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่ไม่น่าจะมีอันตรายใด ๆ
1.      อาการเจ็บจี๊ด ๆ เป็นครั้งละ สั้น ๆ นานไม่ถึงนาที พวกนี้มักจะเป็นกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หรือเส้นประสาท บริเวณหน้าอก ไวผิดปรกติ
2.      อาการเจ็บหน้าอกที่เป็นยาวนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี โดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น ออกกำลังกายได้ปรกติ
3.      อาการเจ็บหน้าอกที่เป็นมากขึ้นขณะพัก และดีขึ้นเวลาไปออกกำลัง หรือมีกิจกกรรม
4.      อาการเจ็บหน้าอกที่บอกตำแหน่งได้ชัดเจนมีจุดกดเจ็บ มักจะเป็นกล้ามเนื้อหรือกระดูกอ่อนอักเสบพวกนี้มักเป็นเจ็บนานประมาณ  2-3 สัปดาห์ ทานยาแก้ปวดจะหายได้
5.      อาการเจ็บหน้าอกที่บอกสาเหตุได้ชัดเจน เช่นมีแผลบริเวณผิวหนัง หรือมีรอยช้ำที่เกิดจากการบาดเจ็บออกแรงบริเวณหน้าอก
สาเหตุของการเจ็บหน้าอกนั้นมีมากมาย มีตั้งแต่อันตรายมาก จนอาจถึงชีวิตเลยในไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่นาที หรือ อาจจะเป็นแค่ผิว ๆ ไม่มีอันตรายใด ๆ แต่บั่นทอน ความรู้สึกของผู้ป่วยจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปรกติ อันเนื่องมาจากความกลัวจะเป็นโรคนั่นเอง เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บหน้าอกจึงมีความสำคัญ และไม่สามารถจะแยกแยะจากอาการได้อย่างเดียว มีความจำเป็นต้องตรวจร่างกาย และตรวจค้นด้วยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่นการทำคลื่นหัวใจ การตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน หรือ การตรวจเลือดเพื่อดูการทำลายของกล้ามเนื้อหัวใจ และดูปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
    บริเวณหน้าอกที่คนส่วนใหญ่เข้าใจคือบริเวณตั้งแต่ชายโครงขึ้นมาจนถึงหัวไหล่ อาการเจ็บหน้าอกที่คนส่วนใหญ่มาปรึกษาหมอ บ่อยที่สุดคือ อาการเจ็บแน่น อึดอัด หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง หวิว ๆ รู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนไม่มีแรง ใจสั่นเป็นบางครั้ง อันนี้นับว่าพบบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่สาเหตุของอาการเจ็บแน่นหน้าอกนั้นเป็นอาการของกล้ามเนื้อ กระดูกอ่อนอักเสบ หรือเส้นประสาทไวผิดปรกติ หรือ มีโรคกรดไหลย้อน แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีความกังวลร่วมอยู่ด้วยจึงทำให้อาการเป็นยาวนาน และรักษาไม่หาย ไปพบแพทย์ก็บอกว่าไม่เป็นอะไร ยิ่งกังวลเข้าไปใหญ่เกรงหมอจะตรวจไม่พบ และวินิจฉัยผิด
    ยิ่งไปพบแพทย์บางท่านไม่ค่อยพูด ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ พบลิ้นหัวใจรั่วนิดหน่อย หรือลิ้นหัวใจยาวนิดหน่อย ยิ่งกังวลเข้าไปใหญ่คิดว่าตนเป็นโรคหัวใจ จากคนไม่เป็นโรคก็กลายเป็นคนเป็นโรคหัวใจไป ความจริงแล้วการพบลิ้นหัวใจรั่วนิดหน่อย หรือยาวนิดหน่อยนั้นสามารถพบในคนปรกติได้ เหตุที่ผิดปรกติเพราะเครื่องมือมีความไวในการตรวจมากเกินไป เวลาแพทย์รายงานผลการตรวจก็ต้องรายงานว่ามีลิ้นหัวใจรั่วนิดหน่อย อันนี้ต้องขอบอกไว้ว่า เป็นเรื่องปรกติ ไม่ต้องกังวล เคยมีคนไข้บางท่านถึงขั้นไปตรวจหัวใจกับหมอหัวใจมาแล้วทุกโรงพยาบาล ได้รับการทำอัลตราซาวด์หัวใจ หรือที่เรียกว่า เอคโค่ มานับเป็น 10 ครั้ง ที่เจ็บหน้าอกเพราะถูกตัวหัวตรวจกดบริเวณหน้าอกจนช้ำไม่หายปวดสักที อย่างนี้เรียกว่า โรคของใจ ไม่ใช่โรคหัวใจ โรคของจิตใจต้องแก้เรื่องจิตใจ กินยาใดก็ไม่มีทางหาย
   มีโรคอีกชนิดหนึ่ง เรืยกว่าโรคลิ้นหัวใจยาว หรือลิ้นหัวใจโผล่แลป ( mitral valve prolapsed ) มักพบในผู้หญิงวัยกลางคน อายุไม่มาก ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ใจสั่น เจ็บหน้าอก หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม ตรวจร่างกายมักปรกติหรือได้ยินเสียงลิ้นหัวใจรั่ว แต่ทำอัลตราซาวด์หัวใจ แล้วพบมีลิ้นหัวใจรั่วและหย่อน เล็กน้อย สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบชัดเจน สันนิฐานว่าอาจจะมี มีสารหลั่ง ที่ไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติมากผิดปรกติ ทำให้มีใจสั่น หวิว วูบได้มาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะอาการมาก และเจ็บป่วยยาวนาน แต่ การพยากรณ์โรคดี อัตตราการเสียชีวิตเท่ากับคนปรกติ เพราะฉะนั้นถ้าใครเป็นโรคนี้ก็ให้รู้ไว้ว่าไม่ต้องกลัว รักษาได้ แพทย์อาจให้ยาทาน ลดอาการใจสั่นในบางครั้งที่เกิดอาการ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง โดยไม่มีอันตรายถึงชีวิต ขอให้เข้าใจโรค เราก็จะอยู่กับมันได้
ความจริงแล้วที่ว่าเจ็บแน่นหน้าอกนั้นสำคัญ เพราะมันเป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้นของโรคร้ายอยู่ สี่โรคที่ทำให้ผู้ป่วยถึงชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างฉับพลัน อันได้แก่
1.      โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ( Acute Myocardial  Infarction  ) เกิดจากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันทันที ผู้ป่วยจะเจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการเหนื่อยหายใจ ไม่สะดวก และ เหงื่อออกตัวเย็น อาการเจ็บมักจะเป็นนานกว่า 20 นาที ภาวะนี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อทำคลื่นหัวใจเพื่อได้รับการวินิจฉัยใน 10 นาที และได้รับการเปิดหลอดเลือด ภายในเวลาไม่เกิน 120 นาทีหลังอาการปวด เกิดขึ้น มิเช่นนั้นจะมีอันตรายถึงชีวิต
2.      โรคหลอดเลือดแดงใหญ่แตกเซาะ (Acute  Aortic Dissection ) หลอดเลือดแดงใหญ่คือท่อประปาท่อใหญ่ที่นำเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจเกิดการแตกเซาะได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง อยู่ อาการมักจะมาด้วยอาการเจ็บกลางอกทะลุไปที่หลัง เป็นทันทีเหมือนถูกฉีกเส้นเลือดออก อาจเป็นร่วมกับอาการหน้ามืดเป็นลม อาการปวดจะเป็นมากและยาวนานกว่า ชั่วโมง ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดอัตตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น ทุก 1 % ต่อ 1 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดทันทีผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 4 วัน
3.      โรคหลอดเลือดแดงปอดอุดตันด้วยลิ่มเลือด( Acute Pulmonary Embolism)  ภาวะนี้ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บอกไม่มากแต่มีอาการเหนื่อยหอบขึ้นมาทันที อันเนื่องจากลิ่มเลือดก้อนใหญ่บริเวณขาไหลไปอุดตั้นที่ขั้วปอดทำให้เลือดำไปฟอกที่ปอดไม่ได้ ทำให้เสียชีวิตทันที ถ้าไม่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด
4.      โรคปอดแตกเฉียบพลัน ( Pneumothrorax ) โรคปอดแตก ไม่ใช่ปอดแหกนะคะ คนละอันกัน โรคนี้เกิดกับผู้ป่วยที่มีถุงลมไม่แข็งแรง เวลาขึ้นที่สูง อาจมีปอดแตกออกทำให้ดันปอดทั้งซีกแฟบลง และทำให้ถึงชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการเจาะลมออกจากช่องปอด อาการของผู้ป่วยมักเกิดขึ้นทันทีทันใด เจ็บหน้าอก ร่วมกับอาการเหนื่อย และเป็นลมหมดสติได้
ใน 4 ภาวะนี้เป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยถึงชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าวินิจฉัยไม่ได้ และรักษาไม่ทันผู้ป่วยอาจถึงชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวควรนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน
   ในทางตรงข้ามกันถ้าอาการเจ็บแน่นหน้าอกนั้นเป็นมาเป็นแรมปี เป็นแบบน้อย ๆ หรือเป็น ๆ หาย ๆ เป็นพัก ๆ ท่านก็ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บความกังวลไว้ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้ชัดเจนว่าท่านเจ็บแน่นหน้าอกจากสาเหตุใดบ้าง ไม่ควรจะวิเคราะห์วิจัยด้วยตัวเอง เพราะอาการเจ็บหน้าอกเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งหนักและเบา มีทั้งอันตรายมาก อันตรายน้อย หรือไม่อันตรายเลย ทุกโรครักษาได้ ยิ่งเรามีข้อมูลมาก ปัญหาจะน้อย ปัญหาของคนที่เจ็บหน้าอกส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะไม่ทราบว่าเป็นอะไร และมีความกังวล ว่าตนจะเป็นโรคร้าย บางท่านไม่ยอมไปพบแพทย์เพราะเกรงจะพบโรค  หรือบางท่านไปพบแพทย์แต่ไม่ยอมตรวจใด ๆ เพราะเกรงจะพบโรค ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นโรค เป็นโรคคิดไปเอง
สิ่งที่ควรทำเมื่อท่านเจ็บแน่นหน้าอก คือไปพบแพทย์ทันที ถ้าท่านมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร่วมกับสัญญาณอันตรายทั้ง 5 ข้างต้น และขอให้แพทย์ทำคลื่นหัวใจให้ท่าน เพื่อวินิจฉัยแยกโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเรามีเวลาไม่มากสำหรับโรคนี้ หลังจากนั้นเราพอมีเวลาที่จะตรวจวินิจฉัย แยกโรคอื่น ๆ ออกไป โดยไปพบแพทย์หัวใจ เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติ่ม ผลการตรวจอาจจะออกมาได้เป็น 3 ระดับ โรค ตั้งแต่
1.      โรคที่มีอันตรายน้อย ไม่ต้องรักษาก็หายเองได้ หรือรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น  ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูกอ่อนอักเสบ หรือ หรือระบบประสาทอัตโนมัติไวผิดปรกติ หรือ mitral valve prolapsed หรือโรค พานิค อาจต้องพบจิตแพทย์
2.      โรคที่ต้องได้รับยา แล้วจะดีขี้น เช่น โรคเยื่อหุ้ม ปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ โรคกรดไหลย้อน หรือโรคหลอดอาหารบีบตัวเป็นตะคริว หรือหลอดเลือดหัวใจเป็นตะคริว ( coronary spasm )   เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าได้รับการรักษาตรงโรคอาการจะดีขึ้น
3.      โรคที่อันตรายถึงชีวิต 4 โรคดังกล่าวข้างต้น ต้องได้รับการรักษาเฉียบพลัน
เมื่อทราบสาเหตุแล้ว ขอให้วางใจ แต่ให้แพทย์รักษาตามโรค ถ้าอยู่ในกลุ่มที่ 1 ขอให้ท่านวางใจ เมื่อถึงเวลาอาการจะดีขึ้นเอง ถ้าอยู่ในกลุ่มที่สอง ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะรักษาท่าน
                                                                                  แพทย์หญิง ธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์
                                                                               อายุรแพทย์หัวใจโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ หรือ การตรวจเอคโค่ ( Echocardiography ) ?


ทำไงดี เมื่อเจ็บหน้าอก?


                                                                                                                                                                  พญ.ธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์
     “หมอครับ ถ้าผมมีอาการเจ็บหน้าอกที่บ้าน ผมควรทำตัวอย่างไรดีครับ” เป็นคำถามที่ตอบได้ยากพอสมควร ง่ายที่สุดก็คือ ถ้าเจ็บหน้าอกก็นั่งพักแล้วสูดหายใจเข้าออกลึกๆ ไม่ต้องตกใจ เพราะอาการเจ็บหน้าอกเป็นได้จากสาเหตุมากมาย ตั้งแต่อันตรายถึงชีวิตจนกระทั่งไม่มีโรคอะไรเลยก็ได้ ทีนี้เรามาเรียนรู้ถึงสาเหตุของอาการเจ็บแน่นหน้าอกก่อนว่าเป็นได้จากอะไรได้บ้าง เพื่อให้ง่ายในการเรียนรู้ จะขอแบ่งสาเหตุอย่างหยาบๆเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆได้แก่
     ก. อาการเจ็บแน่นหน้าอกจากโรคที่ทำให้เกิดอันตรายอาจถึงแก่ชีวิต ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว (นาทีหรือชั่วโมง) จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนทันที ทันใดได้แก่
1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน  (Acute  coronary  syndrome)
2. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดหรือแตกเซาะ (Aortic dissection)
3. โรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด  (Pulmonary  embolism )
4. โรคถุงลมปอดแตกเฉียบพลัน (Tension pneumothorax)
โรคดังกล่าวเหล่านี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาอย่างทันทีทันใด อาจร่วมกับอาการหายใจลำบาก หากเกิดเจ็บแน่นหน้าอกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในชีวิต ก็ควรจะมาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอันตรายเหล่านี้ออกไปก่อน เพราะโรคทั้ง 4 โรคดังกล่าวข้างต้น หากรักษาได้ทันเวลาจะมีโอกาสหายได้ แต่ถ้ารักษาช้าการพยากรณ์โรคก็จะไม่ดี  ตัวอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ถ้ามาถึงโรงพยาบาลและสามารถเปิดหลอดเลือดได้ก่อน 3 ชั่ว โมง  กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกเลี้ยงด้วยหลอดเลือดนั้นก็จะถูกทำลายน้อยมาก( ประมาณ 10%) ในทางกลับกัน ถ้าทิ้งไว้ไม่แก้ไขให้ทันท่วงทีกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นก็จะเสียไปมากขึ้นตามเวลาที่ล่าช้า ตัวอย่างเช่น คนไข้เจ็บหน้าอกตอนเที่ยงคืน แต่ด้วยความเกรงใจลูกหลาน ทนรอจนกระทั่งเช้าวันใหม่ก็ยังไม่บอก รอจนทนไม่ไหวหรือรอให้ลูกหลานกลับจากที่ทำงาน หากเวลาผ่านไปมากกว่า 12 ชั่วโมงค่อยพามาพบแพทย์ ถึงเวลานั้นกล้ามเนื้อหัวใจได้ถูกทำลายไปเกือบหมด (มากกว่า 90%)  แม้แพทย์จะพยายามเปิดหลอดเลือดให้ ประโยชน์ที่ได้รับก็น้อยมากๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของเจ็บหน้าอก  เวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก มากเสียยิ่งกว่าการเจ็บอกเป็นแบบไหนกันแน่ 
     สรุปง่ายๆตรงนี้คือถ้าเจ็บหน้าอก แบบว่าชีวิตนี้ไม่เคยเจ็บมาก่อน ให้รีบมาพบแพทย์ ถ้าเจอหมอที่ห้องฉุกเฉินเล่าอาการให้หมอฟังแล้วขออนุญาตตรวจคลื่นหัวใจด้วย  เพราะบางครั้งลักษณะการเจ็บหน้าอกอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ ต้องอาศัยการตรวจคลื่นหัวใจและตรวจเลือดร่วมด้วย  ในผู้ป่วยบางคนผลเลือด และผลคลื่นหัวใจ ณ ที่ชั่วโมงแรกอาจไม่พบความผิดปกติเลย ต้องรออีก 3-6 ชั่วโมง จึงจะพบความผิดปกติ ทำไมดูมันยากอย่างนั้น แล้วจะเชื่ออะไรดีล่ะ ขอแนะนำให้เชื่อความรู้สึกของตัวเองดีที่สุด หากไม่สบายเจ็บแน่นหน้าอกแบบที่ไม่เคยเจ็บมาก่อน ขอให้นอนโรงพยาบาลและติดตามอาการอย่างใกล้ ชิดดีที่สุดเพียงแค่คืนเดียวก็ให้คำตอบได้แล้วค่ะ ดีกว่าเสียโอกาสทองที่จะได้รักษากล้ามเนื้อหัวใจที่ดีๆเอา ไว้  ที่ต่างประเทศหรือโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในเมืองไทย  ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลคัดกรองผู้ป่วยเจ็บหน้าอกหรือ chest pain center เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกให้ทันเวลาโดยเฉพาะ เหตุเนื่องจากเวลาเป็นสิ่งสำคัญ และการวินิจฉัยโดยทั่วไปๆอาจผิดพลาดได้ ต้องรอการตรวจพิเศษ และการติดตามการรักษาด้วย
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตช้ากว่ากลุ่มแรก มีอันตรายน้อยกว่า แต่ยังจำเป็น ต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในเวลาที่อาจไม่ต้องเร็วเท่ากับ 4 โรคดังกล่าวข้างต้นได้แก่ การเจ็บแน่นหน้าอกจากโรคปอดเช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ จากหัวใจที่ไม่ใช่โรคของหลอดเลือดหัวใจเช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคของระบบทางเดินอาหารเช่น กรดในกระเพาะย้อนกลับหลอดอา หาร (reflux esophagitis) โรคแผลในกระเพาะ โรคตับอ่อนอักเสบ ฝีในตับ หรือโรคของถุงน้ำดี หากได้รับการตรวจที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่ถูกต้องตรงกับโรคเช่น เป็นโรคกระเพาะแต่ถูกให้เป็นโรคหัวใจ ทำให้เกิดความเครียด
      บางท่านอาจสงสัยว่าโรคทางเดินอาหารมาเกี่ยวอะไรด้วย ทำไมถึงแยกไม่ออกจากโรคหัวใจ หมอก็ขอให้ทุกคนลองเอามือวางไว้ที่ลิ้นปี่ซิคะ ตรงนั้นแหละเป็นที่อยู่ของกระเพาะอาหาร มันอยู่ใกล้หัวใจหรือเปล่าคะ ในบางท่านที่ผอมๆอาจรู้สึกว่ามีอะไรเต้นตุ๊บๆอยู่ที่มือ ลึกลงไปตรงนั้นเป็นที่อยู่ของตับอ่อน ด้าน ขวาเป็นที่อยู่ของตับและถุงน้ำดี เมื่อเกิดโรคกับอวัยวะที่อยู่ด้านบนของช่องท้องเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ บางครั้งการที่มีกรดล้นขึ้นมาจากกระเพาะทำให้อาการเหมือนโรคหัวใจมาก แยกออกได้ยากมาก การวินิจฉัยแยกโรคต้องอาศัยประวัติอื่นๆร่วมเช่น ถ้าเป็นโรคกระเพาะ ก็มักมีประวัติเป็นมากตอนท้องว่างหรืออิ่มมาก เรอเปรี้ยว เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการเจ็บมักจะสัมพันธ์กับการหายใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบก็มักเป็นมากเวลาเอนตัวลงนอน อย่างไรก็ตาม เพียงอาการอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ในทันที ต้องแยกโรคอันตรายออกไปก่อน ด้วยการสืบค้นเพิ่มเติมเช่น อาศัยการเจาะเลือดและตรวจพิเศษทางเอกซเรย์ร่วมด้วย
      ข. อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากภาวะที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก่อให้เกิดความกังวลใจ  เสียเงินเสียทองมากมายในการตรวจ ภาวะเจ็บหน้าอกเหล่านี้อาจเกิดจาก
1. กล้ามเนื้ออักเสบ
2. กระดูกอ่อนอักเสบ
3. โรคพานิค (Panic)
4. โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ
5. หลอดเลือดหัวใจหดตัวผิดปกติ  (coronary spasm)
     โรคเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิตโดยเฉพาะโรค Panic อาการเจ็บหน้าอกอาจนานเป็นหลายเดือน บางครั้งก็เป็นๆหายๆ ยาวนานเป็นปี เที่ยวตระเวณหาหมอหลายๆคน ได้รับการตรวจวินิจฉัยไปต่างๆนานา จนสำคัญผิดคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจทั้งๆที่ไม่เป็น บ่อยครั้งที่ได้รับการบอกกล่าวว่าไม่เป็นโรคหัวใจ ก็ไม่เชื่อทั้งนี้เพราะตนเองยังมีอาการอยู่ ก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก ภาวะเจ็บหน้าอกจากภาวะนี้หมอจะรักษาอย่างไรก็ไม่หายเจ็บสักที ใครที่เป็นโรคนี้มักหายยาก ไม่ใช่โรคประสาท แต่เป็นเรื่องของความผิดปกติที่ระดับฮอร์โมนของระบบประสาท (neurotransmiter) การรักษาต้องใช้เวลา แพทย์ต้องให้ความมั่น ใจแก่ผู้ป่วยว่า โรคนี้ไม่อันตราย (แต่ต้องไม่อันตรายจริงๆนะ) รักษาหายได้ อาจต้องใช้ยาและการออกกำลังกายร่วมด้วย อาการผู้ป่วยจะค่อยดีขึ้นๆ ถือว่าต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างมาก หมอเคยพบผู้ป่วยท่านหนึ่งไปพบแพทย์หัวใจมาแล้ว 5 โรงพยาบาลได้รับการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography) มา 5 ครั้ง เจ็บก็ไม่หายแถมเจ็บอกมากขึ้นเนื่องจากเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณอกเพราะจากการตรวจ  นี่เป็นเพราะความไม่มั่นใจ
      กล่าวโดยสรุปอาการเจ็บหน้าอกสามารถเกิดจากโรคต่างๆได้มากมายทั้งที่มีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตและไม่อันตราย ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ สำหรับแพทย์ อันดับแรกต้องนึกถึงและแยกโรคที่อันตรายออกไปก่อน เพื่อที่จะรักษาโรคอันตรายนั้นให้ทันกับเวลา หากไม่ใช่โรคดังกล่าวจึงค่อยมาตรวจวินิจฉัยว่า เป็นโรคใดกันแน่  สำหรับผู้ป่วยและญาติหากไม่แน่ใจ ให้มาโรงพยาบาลก่อนเป็นดีที่สุดค่ะ เพราะการวินิจฉัยแยกโรคจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะให้การรักษา จำเป็นต้องทำการสืบค้นโดยใช้อุป กรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ช่วย หัวใจสำคัญของการรักษาภาวะเจ็บหน้าอกก็คือ การรักษาโรคอันตรายให้ได้ทันเวลา เพราะฉะนั้นถ้าคุณเจ็บหน้าอกแบบที่ในชีวิตนี้ไม่เคยเจ็บมาก่อนหรือไม่แน่ใจว่าจะเป็นสี่โรคอันตรายดังกล่าวข้างต้น ให้มาพบแพทย์ทันทีเลย แต่ถ้าเจ็บแน่นหน้าอกเป็นๆหายๆรักษาไม่หายสักที ก็ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์หัวใจและขอให้มั่นใจกับการวินิจฉัยของแพทย์ที่คุณเชื่อถือเขามากที่สุดค่ะ คุณก็จะปลอดภัยจากภาวะเจ็บหน้าอก แต่ถ้าเจ็บใจเพราะใครทำช้ำใจ หมอหัวใจที่ไหนก็ช่วยไม่ได้นะคะ ต้องถามใจตัวเองค่ะ แก้ไขที่ต้นเหตุแล้วอาการเจ็บใจก็จะหายไปได้เองค่ะ

เมื่อต้องทำผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (บายพาสหัวใจ )

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ที่ดีที่สุดคือ ทำความเข้าใจกับการผ่าตัด และการดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
เมื่อหมอแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
คำถามที่อยู่ในใจผู้ป่วยคือ
1. การผ่าตัดบายหัวใจ หรือเรียกเต็ม ๆ ว่าการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคืออะไร
2. ต้องเตรียมตัวผ่าตัดอย่างไร
3. การผ่าตัดบายพาสหัวใจต้องทำอย่างไร
4. การผ่าตัดใช้เวลานานเท่าไร
5. ต้องพักฟื้นนานเท่าไหร่
6. การผ่าตัดจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่
7. ผ่าตัดแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำอีกหรือไม่
8. ผ่าตัดแล้วยังต้องกินยาอีกต่อหรือไม่
9. หลังผ่าตัดจะกลับไปมีชีวิตประจำวันเหมือนคนอื่นได้หรือไม่ 
          ขอตอบคำถามในใจผู้ป่วยที่ละคำถามก่อนนะคะ
1. การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคืออะไร?
    การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคือ การผ่าตัดที่นำหลอดเลือดที่ขาและหลอดเลือดอื่นๆ ในร่าง กายมาทำการเบี่ยงต่อเข้ากับหลอดเลือดหัวใจหลังบริเวณที่ตีบตัน
 รูปภาพ – หัวใจกับ  Bypass (CABG)
 รูปภาพ -  รถติดบริเวณไฟแดง แล้วมี  สะพานข้าม
เปรียบเสมือนถนนที่มีการจราจรติดขัดมากๆ รถไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้ ถนนปกติเปรียบเสมือนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ รถเปรียบเหมือนประชากรเม็ดเลือด (ซึ่งจะนำออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ)  การทำบายพาสหลอดเลือดก็เปรียบเสมือนการสร้างสะพานใหม่ข้ามบริเวณที่รถติด (จุดที่อุดตันของหลอดเลือด)นั่นเอง
2. ต้องเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอย่างไร?
    โดยปกติเมื่อแพทย์ ผู้ป่วย และญาติได้ปรึกษากันแล้วว่า จะต้องทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ส่วนใหญ่จะมีเวลาให้เตรียมตัวเตรียมใจอย่างน้อยประมาณ 5-7 วัน เนื่องจากผู้ป่วยต้องงดยาต้านเกร็ดเลือด (ได้แก่ยาแอสไพริน และหรือ ยาพลาวิค) เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจทุกท่านต้องได้รับยาต้านเกร็ดเลือดอยู่แล้ว ยาต้านเกร็ดเลือดจะทำให้เลือดหยุดยาก อาจมีปัญหาตอนผ่าตัด เพราะฉะนั้นจึงต้องหยุดยาก่อนผ่าตัด 5-7 วัน จะหยุดนานกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะอาจเกิดเหตุ heart attack  ขึ้นระหว่างหยุดยาต้านเกร็ดเลือดได้ อันดับต่อไปคือ ต้องฝึกหายใจยาวๆเหมือนการนั่งสมาธิ หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้และหายใจออกช้า การหายใจลึกๆช้าๆ จะป้องกันการเกิดปอดแฟบ ทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำได้ เพราะหลังผ่าตัดจะต้องมีแผลที่หน้าอกซึ่งทำให้เจ็บและไม่อยากหายใจ ต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องหายใจแทน ผู้ป่วยบางท่านอาจจะหายใจเข้าลึกๆไม่เป็น ลองสูดหายใจเข้าเหมือนถอนใจหรือดมยาดม แล้วกลั้นไว้ นับหนึ่ง-สอง-สาม หลังจากนั้นปล่อยออกมาช้าๆเหมือนเป่าหนังสะติ๊ก (เวลาเล่นตอนเด็กๆ) หรือเป่าเค้กวันเกิด ออกทางปากการเป่าออกช้าๆจะทำให้ถุงลมเล็กในปอดไม่หดเข้ามาติดกัน และไม่เกิดปอดแฟบ
 การเตรียมตัวที่เหลือจะเป็นของแพทย์และพยาบาล ก็จะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ ตับ ไต หัวใจ ภาวะโภชนาการ ดูความเข้มข้นของเม็ดเลือด ดูการทำงานของปอด ตรวจหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองในผู้สูงอายุมากๆ เพื่อดูว่ามีการตีบตันหรือไม่ เตรียมเลือดที่จะใช้ระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายจะเกณฑ์ญาติมาบริจาคโลหิตไว้ก่อน ที่เหลือก็แค่ทำใจให้สบาย กินยาอื่นๆไปตามปกติ รับประทานอาหารตามปกติ เตรียมตัวเข้าสู่สมรภูมิอย่างองอาจ นอนหลับให้สบาย
3-5 การผ่าตัดทำอย่างไร   และใช้เวลานานเท่าไหร่  และต้องพักฟื้นนานแค่ไหน 
 ที่นี้ก็มาถึงเวลาอันระทึกใจแล้ว เมื่อถึงวันก่อนผ่าตัดหรือวันสุกดิบ ผู้ป่วยก็ต้องอดอาหารหลังเที่ยงคืน เพื่อให้ท้องว่าง ได้รับการทำความสะอาดบริเวณหน้าอก แขนและขาทั้งสองข้าง เพื่อเลาะเอาหลอดเลือดมาใช้ต่อบายพาส การผ่าตัดจะทำภายใต้การดมยาสลบ ร่วมกับฉีดยาสลบผู้ป่วยก็จะไม่รู้เรื่อง (หายตื่นเต้นสักที) วิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา) จะใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจช่วยผู้ป่วยหายใจ
ที่นี้มาแอบดูกันว่าหลังจากผู้ป่วยสลบไปแล้วคุณหมอทำอะไรกับเราบ้าง ทีมศัลยแพทย์ส่วนใหญ่จะมีมากกว่า 3-4 ท่าน แบ่งเป็นสองทีม ทำงานไปพร้อมกัน ทีมหนึ่งจะเปิดหน้าอกโดยตัดแบะกระดูกสันอกออก ทำการต่อหลอดเลือดที่เข้าออกหัวใจไปเข้าเครื่องปอดเทียมหัวใจเทียม(Cardiopulmonary bypass, CPB) สมกับชื่อของมันจริงๆ เครื่องนี้จะทำหน้าที่แทนหัวใจและปอดของผู้ป่วยขณะที่หัวใจหยุดเต้น ในระหว่างนั้นศัลย์แพทย์อีกทีมหนึ่งก็จะลงไปเลาะหลอดเลือดที่จะเอามาต่อ (เหมือนกับไปเตรียมสะพานสำเร็จรูปมา) ส่วนใหญ่จะเอาหลอดเลือดดำจากขา หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเต้านม และหรือที่บริเวณข้อมือ อาจเป็นข้าง ซ้ายหรือขวาหรือทั้งสองข้าง ก็แล้วแต่ศัลยแพทย์จะเห็นเหมาะสม
       หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะทำให้หัวใจหยุดเต้น โดยการทำให้หัวใจเย็นลงด้วยน้ำเกลือพิเศษที่แช่มาเย็นเจี๊ยบ เมื่อหัวใจหยุดเต้นแล้ว เขาก็จะต่อส่วนต้นของหลอดเลือดที่เลาะมาเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่และต่อปลายอีกด้านหนึ่งของหลอดเลือด (สะพานสำเร็จรูป) เข้ากับหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งหลังบริเวณที่ตีบ ต่อแบบนี้จนครบทุกเส้นที่ตีบตัน (โดยปกติ 3-5 เส้น) เมื่อครบตามที่วางแผนไว้ ก็จะเอาเลือดกลับเข้าหัวใจอีกครั้ง ปิดเยื่อหุ้มหัวใจ เย็บปิดกระดูกสันอกและผิวหนัง หลังจากนั้นวิสัญญีแพทย์จะทำให้ผู้ป่วยตื่น  ส่วนใหญ่จะคาท่อช่วยหายใจไว้ก่อน
       ผู้ป่วยจะตื่นมาด้วยความงงๆ เจ็บแผลผ่าตัด (ถึงแม้จะได้ยาแก้ปวดแล้วก็ตาม) ผู้ป่วยจะถูกย้ายไปห้องพักฟื้นและห้องซีซียู (CCU) หรือหออภิบาลหัวใจ และดูแลอย่างใกล้ชิด เวลาที่ใช้ผ่าตัดทั้งหมดตกประ มาณ 2-4 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความยากง่าย หรือจำนวนเส้นที่ต่อ
หลังจากนั้นจะนอนอยู่ในหออภิบาลหัวใจจนผู้ป่วยปลอดภัย หายใจได้เองจึงเอาท่อช่วยหายใจออก หยุดยากระตุ้นหัวใจทุกชนิด ลุกนั่งบนและข้างเตียง หรือเดินภายในห้องและในหออภิบาล หากทำได้ดีไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเกิดอันตรายกับผู้ป่วย แพทย์จึงจะอนุญาตให้ย้ายขึ้นไปพักฟื้นที่ห้องปกติได้ ตรงนี้ปกติมักเป็นวันที่ 3 หรือ 4 หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการทำกายภาพบำบัดต่อไปอีกจนแพทย์ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน โดยปกติผู้ป่วยจะอยู่ในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ย 1 สัปดาห์นับตั้งแต่วันผ่าตัด (ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ)
6. การผ่าตัดจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่?
    เราจะแก่เกินไปหรือเปล่าที่จะรับการผ่าตัดหัวใจ
 แน่นอน! การผ่าตัดทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยง อัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัว ใจ อยู่ที่ประมาณ 2-4% ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด หมอดมยาหรือวิสัญญีแพทย์ และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด
 ถามว่าถ้าอายุมากจะผ่าตัดได้หรือ อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการผ่าตัดทุกชนิดโดยเฉพาะผ่า ตัดหัวใจ หากอายุมากขึ้นความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า อายุมากจะผ่าไม่ได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาผ่าตัดล้วนแต่อายุมากทั้งนั้น  ผู้ป่วยบางท่านอายุ 70-80 ปี แต่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ก็สามารถรับการผ่าตัด โดยอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่อายุ 40 แต่หัวใจ ตับ ไต ทำงานไม่ดีด้วยซ้ำไป
7. ผ่าตัดแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำอีกหรือไม่
   โดยทั่วไปถ้าได้รับการต่อหลอดเลือดประสบความสำเร็จ โอกาสเป็นซ้ำจะอยู่ที่ 50% หลังผ่าตัด 10 ปี  (ถ้าใช้หลอดเลือดดำ) และโอกาสตีบซ้ำจะน้อยลงไปกว่านี้อีก ถ้าใช้หลอดเลือดแดงต่อ ยังไงก็ต้องเตรียม ตัวเตรียมใจไว้ว่า  หลัง 10 ปีแล้วโอกาสจะเป็นซ้ำประมาณครึ่งหนึ่ง
8. ผ่าตัดแล้วต้องกินยาต่อหรือไม่
   แน่นอนที่สุด หลังผ่าตัดผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดยาได้ จำเป็นต้องกินยาต่อไปเหมือนกับก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการตีบซ้ำ ยาที่ต้องกินต่อแน่ๆก็คือ ยาต้านเกร็ดเลือด หากหยุดอาจก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงต่อหลอดเลือดใหม่ที่นำมาต่อไว้ นอกจากนี้ยังคงต้องปรับเปลี่ยนลีลาชีวิตต่อไปอีกด้วย ดังนั้นหลังผ่าตัดยังไงก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพเหมือนๆหรือดีกว่าก่อนผ่าตัด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ใหม่ๆ จะกินยาตลอด ปฏิบัติตนดีเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง แต่พอเวลาผ่านไปนานขึ้นๆ ไม่เห็นมีอาการผิดปกติ เกิดความเบื่อและประมาท เลิกดูแลตนเอง ไม่กินยาและกลับไปหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องระมัดระวังให้มากๆ
9. หลังผ่าตัดจะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้หรือไม่ และเมื่อไร
   ขอเพียงแต่ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งหรือแนะนำ มาพบแพทย์ตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัดอย่างถูกต้อง หลังจากผ่าตัด 4-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ออกกำลังได้ ขับรถได้ ไปเที่ยวต่างประเทศได้ มีเพศสัมพันธ์ได้ (กับคู่คนเดิมนะคะ) โดยไม่ต้องกังวลอะไรอีก

ผลข้างเคียงหรือแพ้ยากันแน่?


พญ.ธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์
     เมื่อหมอสั่งยาให้ผู้ป่วยไปรับประทานที่บ้าน หากรู้สึกไม่สบายไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ กฎเหล็กก็คือ ปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยาตัวนั้นด่วน เพราะแพทย์ผู้ให้ยาเท่านั้นที่จะให้คำแนะนำได้ดีที่สุด เพราะการหยุดยาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้เป็นผลเสียถึงชีวิต หรือการทนกินยาต่อไปก็เช่นเดียวกัน อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ก่อนอื่นมารู้จักคำว่า แพ้ยา และ ผลข้างเคียงของยาเสียก่อน
แพ้ยา หมายถึง ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านต่อสารอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่ในตัวยานั้น อาการเริ่มแรกคือมีผื่นคันตามตัว ต่อมาจะมีตาบวม ปากบวม รู้สึกหายใจมีเสียงหืดหอบ หายใจลำบาก ลิ้นจุกปาก พูดไม่ชัด เพราะอวัยวะบริเวณในลำคอบวม อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหนึ่งถึงสองชั่วโมงแรกหลังรับประทานยาลงไป หรือเกิดขึ้นทันทีหลังได้รับยาฉีด ระดับการแพ้มีหลายระดับ อาจเป็นตั้งแต่รุนแรง ที่เรียกว่าอะนาไฟเลคซีส (Anaphylaxis) ที่เห็นเป็นข่าวหนังสือพิมพ์อยู่ประจำ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตหลังฉีดยาทันที ภาวะนี้เป็นภาวะที่ควบคุมไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าผู้ป่วยรายใดจะเกิดอาการแบบนี้ขึ้น ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของภาวะนี้ต่ำมากๆ แต่คงไม่มีใครอยากให้มันเกิดกับเรา ครอบครัวเราหรือคนไข้เราเป็นแน่นอน ภาวะนี้ถ้ารักษาทันผู้ป่วยจะรอดชีวิต และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร แต่ถ้าล่าช้าก็จะเกิดเป็นเรื่องเศร้าแน่นอน หมออยากให้แนวทางสั้นๆในการป้องกันภาวะนี้ไว้
     ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ว่า แพ้ยาอะไรอยู่บ้างทุกๆครั้งที่แพทย์จะสั่งยาตัวใหม่ให้ เพื่อแพทย์จะได้ไม่สั่งยาในกลุ่มเดียวกันกับที่เคยแพ้ให้
ผู้ป่วยควรจดบันทึกส่วนตัวไว้ทุกครั้ง ถ้ารับประทานยาแล้วเกิดอาการข้างเคียง
ถ้าผู้ป่วยรับประทานยาแล้วเกิดผื่นคัน ให้รีบโทรแจ้งแพทย์ทันที เพื่อแพทย์จะได้ประเมินอาการและช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที
     ผลข้างเคียงของยา (ไม่ใช่แพ้ยา) ยาโรคหัวใจเกือบทุกชนิดมักมีผลข้างเคียง ภาวะนี้ไม่ใช่แพ้ยา แต่เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาที่ได้ ภาวะนี้จะพบบ่อยกว่าการแพ้ยา ยกตัวอย่างเช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางตัวทำให้ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ ท้องผูก เท้าบวมชนิดกดบุ๋ม ยารักษาโรคหัวใจบางอย่างทำให้ไอแห้งๆ หรือยาต้านเกร็ดเลือดอาจทำให้แผลในกระเพาะกำเริบขึ้น ทำให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น โรคเก๊าท์กำเริบ ยาขับปัสสาวะบางอย่างทำให้เต้านมโตแข็งในผู้ชาย ยาลดความดันบางอย่างทำให้นอนไม่หลับ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ยารักษาโรคเก๊าท์ทำให้ท้องเสีย ยาปฏิชีวนะบางตัวทำให้คลื่นไส้อาเจียน ยารักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจทำให้เป็นโรคไทรอยด์ทั้งเป็นพิษและต่ำ เกิดผังผืดในปอด ยาลดโคเลสเตอรอลอาจทำให้ตับอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อลาย เป็นต้น
     ยังมีผลข้างเคียงอีกมากมายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ที่พบบ่อยคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน แค่นี้ก็มากพอที่จะไม่อยากทนกินยาอีกต่อไปแล้ว ถ้าคุณกินยาแล้วมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นก็ควรจะแจ้งแพทย์ให้ทราบโดยละเอียด เพราะแพทย์จะรู้ว่ายาตัวไหนที่คุณกินอยู่ออกฤทธิ์อย่างไร มีผลข้างเคียงอย่างไร ควรจะแก้ไขอย่างไร ผู้ป่วยบางท่านทานยารักษาความดันแล้วอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันร้าย นอนไม่หลับมีปัญหาครอบครัวแต่เกรง ใจหมอ ไม่กล้าบอกเลยตัดสินใจหยุดกินยาความดันเอง และหันหลังให้แก่โรงพยาบาลตลอดไป กลับมาเจอกันอีกทีก็ตอนเส้นเลือดในสมองแตกแล้ว ที่จริงแล้วแค่บอกความจริงแก่แพทย์ก็สามารถเปลี่ยนยาเป็นยาตัวอื่นได้ อันว่าผลข้างเคียงของยานี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดกับทุกคน ผู้ป่วยบางคนรับยาแบบเดียวกัน แต่ไม่มีผลข้างเคียงของยาแบบนั้นก็มี เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาเป็นรายๆไป
     ผลข้างเคียงของยาบางครั้งก็มีประโยชน์ สามารถนำผลข้างเคียงนั้นมาใช้ในทางการรักษา ยกตัวอย่างเช่น ยาไวอะกร้า (Viagra) แรกเริ่มเดิมทีเป็นยาที่ผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคหัวใจขาดเลือด มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหัวใจเหมือนยาไนเตรท (Nitrate) ผู้ป่วยที่เข้าโครงการทดลองยานี้หลังได้รับประทานยาพบว่า อาการเจ็บแน่นหน้าอกไม่ดีขึ้น แต่มีผู้ป่วยรายหนึ่งมากระซิบบอกแพทย์ว่า หลังกินยาแล้วอวัยวะเพศที่ไม่เคยแข็งตัวเลยกลับมาแข็งตัวใหม่ ทำให้ทีมแพทย์ต้องกลับไปศึกษายาตัวนี้ใหม่เป็นที่ฮือฮากันมาก หลังจากนั้นแพทย์ได้เรียกยาตัวนี้กลับจากผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการ เนื่องจากเกรงว่าทานแล้วจะมีอันตรายต่อหัวใจ แต่ไม่มีใครยอมคืนยาเลย (อ้างว่าทิ้งไปหมดแล้ว) หลังการศึกษายาตัวนี้ก็ได้ออกจำหน่ายเพื่อรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทำให้บริษัทที่ผลิตยานี้ร่ำรวยเพราะขายยาได้เหมือนเป็นเทน้ำเทท่า เพียงแค่ขายผลข้างเคียงของยานี้นั่น เอง แต่ยานี้ก็มีข้อห้ามใช้ร่วมกับยาไนเตรท เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำมากจนถึงขั้นเสียชีวิต ยังมียาอีกตัวหนึ่งที่ถูกนำผลข้างเคียงมาใช้เพื่อการรักษา นั่นคือ ยารักษาความดันที่ชื่อว่า ไมนอกซิดิวล์ (Minoxidil) ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงทำให้ขนดก จึงมีคนหัวใส (อาจจะเป็นเพราะมีผมน้อย) ผลิตยานี้ออกมาในรูปยาทา ใช้เพื่อปลูกผมโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความดันโลหิตสูงเลย ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกัน
พูดถึงอาการข้างเคียงอีกแบบหนึ่งคือ อาการที่เป็นฤทธิ์ของยาโดยตรง เช่นกินยาลดความดันแล้วทำให้ลุกขึ้นแล้วหน้ามืด อันนี้อาจไม่เรียกว่าอาการข้างเคียง เพราะเป็นฤทธิ์โดยตรงของยาตัวนั้น วัตถุประสงค์เพื่อลดความดัน แต่อาจเป็นเพราะผู้ป่วยอยู่กับความดันโลหิตสูงๆมานานมาก หลอดเลือดในสมองปรับตัวให้เข้ากับความดันโลหิตสูงนั้นไปแล้ว ทำให้เวลาลดความดันอาจลดลงเร็วเกินไป ทำให้สมองผู้ป่วยปรับตัวไม่ทัน การแก้ไขปัญหานี้คือจะต้องให้ยาอย่างช้าๆ ใช้ยาขนาดต่ำแล้วค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกไม่ดีว่าตอนแรกความดันโลหิตสูงไม่เห็นจะรู้สึกอะไร แต่พอลดความดันลงรู้สึกไม่สบาย ทำให้ปฏิเสธการกินยา อันนี้อยากจะทำความเข้าใจให้ผู้ป่วยทราบว่า การมีความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้ควบคุมหรือควบคุมไม่ได้เหมือนมีระเบิดเวลาที่ซ่อนเงียบอยู่ในตัว รอวันระเบิด เพราะฉะนั้นยังไงก็ควรจะหาวิธีควบคุมความดันนี้ให้ได้ อาจจะช้าหน่อย แต่ในที่สุดเราก็จะควบคุมมันได้
      โดยสรุปแล้ว การกินยาก็เพื่อหวังผลรักษา ผลอันไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้ การแพ้ยาเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยากเพราะเราบอกไม่ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับใคร แต่เราทำให้บรรเทาความรุนแรงได้และถ้าให้การรักษาได้รวดเร็วผู้ป่วยจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนเลย ส่วนอาการข้างเคียงของยาในปัจจุบันเกิดขึ้นน้อยลง ยารุ่นใหม่จะมีประสิทธิภาพดี และผลข้างเคียงน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะความรู้ทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ขอเพียงท่านแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบถึงปัญหาของท่าน ทุกอย่างก็จะมีทางแก้