บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

เมื่อต้องทำผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (บายพาสหัวใจ )

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ที่ดีที่สุดคือ ทำความเข้าใจกับการผ่าตัด และการดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
เมื่อหมอแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
คำถามที่อยู่ในใจผู้ป่วยคือ
1. การผ่าตัดบายหัวใจ หรือเรียกเต็ม ๆ ว่าการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคืออะไร
2. ต้องเตรียมตัวผ่าตัดอย่างไร
3. การผ่าตัดบายพาสหัวใจต้องทำอย่างไร
4. การผ่าตัดใช้เวลานานเท่าไร
5. ต้องพักฟื้นนานเท่าไหร่
6. การผ่าตัดจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่
7. ผ่าตัดแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำอีกหรือไม่
8. ผ่าตัดแล้วยังต้องกินยาอีกต่อหรือไม่
9. หลังผ่าตัดจะกลับไปมีชีวิตประจำวันเหมือนคนอื่นได้หรือไม่ 
          ขอตอบคำถามในใจผู้ป่วยที่ละคำถามก่อนนะคะ
1. การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคืออะไร?
    การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคือ การผ่าตัดที่นำหลอดเลือดที่ขาและหลอดเลือดอื่นๆ ในร่าง กายมาทำการเบี่ยงต่อเข้ากับหลอดเลือดหัวใจหลังบริเวณที่ตีบตัน
 รูปภาพ – หัวใจกับ  Bypass (CABG)
 รูปภาพ -  รถติดบริเวณไฟแดง แล้วมี  สะพานข้าม
เปรียบเสมือนถนนที่มีการจราจรติดขัดมากๆ รถไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้ ถนนปกติเปรียบเสมือนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ รถเปรียบเหมือนประชากรเม็ดเลือด (ซึ่งจะนำออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ)  การทำบายพาสหลอดเลือดก็เปรียบเสมือนการสร้างสะพานใหม่ข้ามบริเวณที่รถติด (จุดที่อุดตันของหลอดเลือด)นั่นเอง
2. ต้องเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอย่างไร?
    โดยปกติเมื่อแพทย์ ผู้ป่วย และญาติได้ปรึกษากันแล้วว่า จะต้องทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ส่วนใหญ่จะมีเวลาให้เตรียมตัวเตรียมใจอย่างน้อยประมาณ 5-7 วัน เนื่องจากผู้ป่วยต้องงดยาต้านเกร็ดเลือด (ได้แก่ยาแอสไพริน และหรือ ยาพลาวิค) เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจทุกท่านต้องได้รับยาต้านเกร็ดเลือดอยู่แล้ว ยาต้านเกร็ดเลือดจะทำให้เลือดหยุดยาก อาจมีปัญหาตอนผ่าตัด เพราะฉะนั้นจึงต้องหยุดยาก่อนผ่าตัด 5-7 วัน จะหยุดนานกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะอาจเกิดเหตุ heart attack  ขึ้นระหว่างหยุดยาต้านเกร็ดเลือดได้ อันดับต่อไปคือ ต้องฝึกหายใจยาวๆเหมือนการนั่งสมาธิ หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้และหายใจออกช้า การหายใจลึกๆช้าๆ จะป้องกันการเกิดปอดแฟบ ทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำได้ เพราะหลังผ่าตัดจะต้องมีแผลที่หน้าอกซึ่งทำให้เจ็บและไม่อยากหายใจ ต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องหายใจแทน ผู้ป่วยบางท่านอาจจะหายใจเข้าลึกๆไม่เป็น ลองสูดหายใจเข้าเหมือนถอนใจหรือดมยาดม แล้วกลั้นไว้ นับหนึ่ง-สอง-สาม หลังจากนั้นปล่อยออกมาช้าๆเหมือนเป่าหนังสะติ๊ก (เวลาเล่นตอนเด็กๆ) หรือเป่าเค้กวันเกิด ออกทางปากการเป่าออกช้าๆจะทำให้ถุงลมเล็กในปอดไม่หดเข้ามาติดกัน และไม่เกิดปอดแฟบ
 การเตรียมตัวที่เหลือจะเป็นของแพทย์และพยาบาล ก็จะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ ตับ ไต หัวใจ ภาวะโภชนาการ ดูความเข้มข้นของเม็ดเลือด ดูการทำงานของปอด ตรวจหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองในผู้สูงอายุมากๆ เพื่อดูว่ามีการตีบตันหรือไม่ เตรียมเลือดที่จะใช้ระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายจะเกณฑ์ญาติมาบริจาคโลหิตไว้ก่อน ที่เหลือก็แค่ทำใจให้สบาย กินยาอื่นๆไปตามปกติ รับประทานอาหารตามปกติ เตรียมตัวเข้าสู่สมรภูมิอย่างองอาจ นอนหลับให้สบาย
3-5 การผ่าตัดทำอย่างไร   และใช้เวลานานเท่าไหร่  และต้องพักฟื้นนานแค่ไหน 
 ที่นี้ก็มาถึงเวลาอันระทึกใจแล้ว เมื่อถึงวันก่อนผ่าตัดหรือวันสุกดิบ ผู้ป่วยก็ต้องอดอาหารหลังเที่ยงคืน เพื่อให้ท้องว่าง ได้รับการทำความสะอาดบริเวณหน้าอก แขนและขาทั้งสองข้าง เพื่อเลาะเอาหลอดเลือดมาใช้ต่อบายพาส การผ่าตัดจะทำภายใต้การดมยาสลบ ร่วมกับฉีดยาสลบผู้ป่วยก็จะไม่รู้เรื่อง (หายตื่นเต้นสักที) วิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา) จะใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจช่วยผู้ป่วยหายใจ
ที่นี้มาแอบดูกันว่าหลังจากผู้ป่วยสลบไปแล้วคุณหมอทำอะไรกับเราบ้าง ทีมศัลยแพทย์ส่วนใหญ่จะมีมากกว่า 3-4 ท่าน แบ่งเป็นสองทีม ทำงานไปพร้อมกัน ทีมหนึ่งจะเปิดหน้าอกโดยตัดแบะกระดูกสันอกออก ทำการต่อหลอดเลือดที่เข้าออกหัวใจไปเข้าเครื่องปอดเทียมหัวใจเทียม(Cardiopulmonary bypass, CPB) สมกับชื่อของมันจริงๆ เครื่องนี้จะทำหน้าที่แทนหัวใจและปอดของผู้ป่วยขณะที่หัวใจหยุดเต้น ในระหว่างนั้นศัลย์แพทย์อีกทีมหนึ่งก็จะลงไปเลาะหลอดเลือดที่จะเอามาต่อ (เหมือนกับไปเตรียมสะพานสำเร็จรูปมา) ส่วนใหญ่จะเอาหลอดเลือดดำจากขา หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเต้านม และหรือที่บริเวณข้อมือ อาจเป็นข้าง ซ้ายหรือขวาหรือทั้งสองข้าง ก็แล้วแต่ศัลยแพทย์จะเห็นเหมาะสม
       หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะทำให้หัวใจหยุดเต้น โดยการทำให้หัวใจเย็นลงด้วยน้ำเกลือพิเศษที่แช่มาเย็นเจี๊ยบ เมื่อหัวใจหยุดเต้นแล้ว เขาก็จะต่อส่วนต้นของหลอดเลือดที่เลาะมาเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่และต่อปลายอีกด้านหนึ่งของหลอดเลือด (สะพานสำเร็จรูป) เข้ากับหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งหลังบริเวณที่ตีบ ต่อแบบนี้จนครบทุกเส้นที่ตีบตัน (โดยปกติ 3-5 เส้น) เมื่อครบตามที่วางแผนไว้ ก็จะเอาเลือดกลับเข้าหัวใจอีกครั้ง ปิดเยื่อหุ้มหัวใจ เย็บปิดกระดูกสันอกและผิวหนัง หลังจากนั้นวิสัญญีแพทย์จะทำให้ผู้ป่วยตื่น  ส่วนใหญ่จะคาท่อช่วยหายใจไว้ก่อน
       ผู้ป่วยจะตื่นมาด้วยความงงๆ เจ็บแผลผ่าตัด (ถึงแม้จะได้ยาแก้ปวดแล้วก็ตาม) ผู้ป่วยจะถูกย้ายไปห้องพักฟื้นและห้องซีซียู (CCU) หรือหออภิบาลหัวใจ และดูแลอย่างใกล้ชิด เวลาที่ใช้ผ่าตัดทั้งหมดตกประ มาณ 2-4 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความยากง่าย หรือจำนวนเส้นที่ต่อ
หลังจากนั้นจะนอนอยู่ในหออภิบาลหัวใจจนผู้ป่วยปลอดภัย หายใจได้เองจึงเอาท่อช่วยหายใจออก หยุดยากระตุ้นหัวใจทุกชนิด ลุกนั่งบนและข้างเตียง หรือเดินภายในห้องและในหออภิบาล หากทำได้ดีไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเกิดอันตรายกับผู้ป่วย แพทย์จึงจะอนุญาตให้ย้ายขึ้นไปพักฟื้นที่ห้องปกติได้ ตรงนี้ปกติมักเป็นวันที่ 3 หรือ 4 หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการทำกายภาพบำบัดต่อไปอีกจนแพทย์ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน โดยปกติผู้ป่วยจะอยู่ในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ย 1 สัปดาห์นับตั้งแต่วันผ่าตัด (ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ)
6. การผ่าตัดจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่?
    เราจะแก่เกินไปหรือเปล่าที่จะรับการผ่าตัดหัวใจ
 แน่นอน! การผ่าตัดทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยง อัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัว ใจ อยู่ที่ประมาณ 2-4% ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด หมอดมยาหรือวิสัญญีแพทย์ และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด
 ถามว่าถ้าอายุมากจะผ่าตัดได้หรือ อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการผ่าตัดทุกชนิดโดยเฉพาะผ่า ตัดหัวใจ หากอายุมากขึ้นความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า อายุมากจะผ่าไม่ได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาผ่าตัดล้วนแต่อายุมากทั้งนั้น  ผู้ป่วยบางท่านอายุ 70-80 ปี แต่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ก็สามารถรับการผ่าตัด โดยอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่อายุ 40 แต่หัวใจ ตับ ไต ทำงานไม่ดีด้วยซ้ำไป
7. ผ่าตัดแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำอีกหรือไม่
   โดยทั่วไปถ้าได้รับการต่อหลอดเลือดประสบความสำเร็จ โอกาสเป็นซ้ำจะอยู่ที่ 50% หลังผ่าตัด 10 ปี  (ถ้าใช้หลอดเลือดดำ) และโอกาสตีบซ้ำจะน้อยลงไปกว่านี้อีก ถ้าใช้หลอดเลือดแดงต่อ ยังไงก็ต้องเตรียม ตัวเตรียมใจไว้ว่า  หลัง 10 ปีแล้วโอกาสจะเป็นซ้ำประมาณครึ่งหนึ่ง
8. ผ่าตัดแล้วต้องกินยาต่อหรือไม่
   แน่นอนที่สุด หลังผ่าตัดผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดยาได้ จำเป็นต้องกินยาต่อไปเหมือนกับก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการตีบซ้ำ ยาที่ต้องกินต่อแน่ๆก็คือ ยาต้านเกร็ดเลือด หากหยุดอาจก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงต่อหลอดเลือดใหม่ที่นำมาต่อไว้ นอกจากนี้ยังคงต้องปรับเปลี่ยนลีลาชีวิตต่อไปอีกด้วย ดังนั้นหลังผ่าตัดยังไงก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพเหมือนๆหรือดีกว่าก่อนผ่าตัด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ใหม่ๆ จะกินยาตลอด ปฏิบัติตนดีเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง แต่พอเวลาผ่านไปนานขึ้นๆ ไม่เห็นมีอาการผิดปกติ เกิดความเบื่อและประมาท เลิกดูแลตนเอง ไม่กินยาและกลับไปหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องระมัดระวังให้มากๆ
9. หลังผ่าตัดจะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้หรือไม่ และเมื่อไร
   ขอเพียงแต่ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งหรือแนะนำ มาพบแพทย์ตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัดอย่างถูกต้อง หลังจากผ่าตัด 4-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ออกกำลังได้ ขับรถได้ ไปเที่ยวต่างประเทศได้ มีเพศสัมพันธ์ได้ (กับคู่คนเดิมนะคะ) โดยไม่ต้องกังวลอะไรอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น