บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

ทำไงดี เมื่อเจ็บหน้าอก?


                                                                                                                                                                  พญ.ธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์
     “หมอครับ ถ้าผมมีอาการเจ็บหน้าอกที่บ้าน ผมควรทำตัวอย่างไรดีครับ” เป็นคำถามที่ตอบได้ยากพอสมควร ง่ายที่สุดก็คือ ถ้าเจ็บหน้าอกก็นั่งพักแล้วสูดหายใจเข้าออกลึกๆ ไม่ต้องตกใจ เพราะอาการเจ็บหน้าอกเป็นได้จากสาเหตุมากมาย ตั้งแต่อันตรายถึงชีวิตจนกระทั่งไม่มีโรคอะไรเลยก็ได้ ทีนี้เรามาเรียนรู้ถึงสาเหตุของอาการเจ็บแน่นหน้าอกก่อนว่าเป็นได้จากอะไรได้บ้าง เพื่อให้ง่ายในการเรียนรู้ จะขอแบ่งสาเหตุอย่างหยาบๆเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆได้แก่
     ก. อาการเจ็บแน่นหน้าอกจากโรคที่ทำให้เกิดอันตรายอาจถึงแก่ชีวิต ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว (นาทีหรือชั่วโมง) จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนทันที ทันใดได้แก่
1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน  (Acute  coronary  syndrome)
2. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดหรือแตกเซาะ (Aortic dissection)
3. โรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด  (Pulmonary  embolism )
4. โรคถุงลมปอดแตกเฉียบพลัน (Tension pneumothorax)
โรคดังกล่าวเหล่านี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาอย่างทันทีทันใด อาจร่วมกับอาการหายใจลำบาก หากเกิดเจ็บแน่นหน้าอกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในชีวิต ก็ควรจะมาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอันตรายเหล่านี้ออกไปก่อน เพราะโรคทั้ง 4 โรคดังกล่าวข้างต้น หากรักษาได้ทันเวลาจะมีโอกาสหายได้ แต่ถ้ารักษาช้าการพยากรณ์โรคก็จะไม่ดี  ตัวอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ถ้ามาถึงโรงพยาบาลและสามารถเปิดหลอดเลือดได้ก่อน 3 ชั่ว โมง  กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกเลี้ยงด้วยหลอดเลือดนั้นก็จะถูกทำลายน้อยมาก( ประมาณ 10%) ในทางกลับกัน ถ้าทิ้งไว้ไม่แก้ไขให้ทันท่วงทีกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นก็จะเสียไปมากขึ้นตามเวลาที่ล่าช้า ตัวอย่างเช่น คนไข้เจ็บหน้าอกตอนเที่ยงคืน แต่ด้วยความเกรงใจลูกหลาน ทนรอจนกระทั่งเช้าวันใหม่ก็ยังไม่บอก รอจนทนไม่ไหวหรือรอให้ลูกหลานกลับจากที่ทำงาน หากเวลาผ่านไปมากกว่า 12 ชั่วโมงค่อยพามาพบแพทย์ ถึงเวลานั้นกล้ามเนื้อหัวใจได้ถูกทำลายไปเกือบหมด (มากกว่า 90%)  แม้แพทย์จะพยายามเปิดหลอดเลือดให้ ประโยชน์ที่ได้รับก็น้อยมากๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของเจ็บหน้าอก  เวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก มากเสียยิ่งกว่าการเจ็บอกเป็นแบบไหนกันแน่ 
     สรุปง่ายๆตรงนี้คือถ้าเจ็บหน้าอก แบบว่าชีวิตนี้ไม่เคยเจ็บมาก่อน ให้รีบมาพบแพทย์ ถ้าเจอหมอที่ห้องฉุกเฉินเล่าอาการให้หมอฟังแล้วขออนุญาตตรวจคลื่นหัวใจด้วย  เพราะบางครั้งลักษณะการเจ็บหน้าอกอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ ต้องอาศัยการตรวจคลื่นหัวใจและตรวจเลือดร่วมด้วย  ในผู้ป่วยบางคนผลเลือด และผลคลื่นหัวใจ ณ ที่ชั่วโมงแรกอาจไม่พบความผิดปกติเลย ต้องรออีก 3-6 ชั่วโมง จึงจะพบความผิดปกติ ทำไมดูมันยากอย่างนั้น แล้วจะเชื่ออะไรดีล่ะ ขอแนะนำให้เชื่อความรู้สึกของตัวเองดีที่สุด หากไม่สบายเจ็บแน่นหน้าอกแบบที่ไม่เคยเจ็บมาก่อน ขอให้นอนโรงพยาบาลและติดตามอาการอย่างใกล้ ชิดดีที่สุดเพียงแค่คืนเดียวก็ให้คำตอบได้แล้วค่ะ ดีกว่าเสียโอกาสทองที่จะได้รักษากล้ามเนื้อหัวใจที่ดีๆเอา ไว้  ที่ต่างประเทศหรือโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในเมืองไทย  ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลคัดกรองผู้ป่วยเจ็บหน้าอกหรือ chest pain center เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกให้ทันเวลาโดยเฉพาะ เหตุเนื่องจากเวลาเป็นสิ่งสำคัญ และการวินิจฉัยโดยทั่วไปๆอาจผิดพลาดได้ ต้องรอการตรวจพิเศษ และการติดตามการรักษาด้วย
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตช้ากว่ากลุ่มแรก มีอันตรายน้อยกว่า แต่ยังจำเป็น ต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในเวลาที่อาจไม่ต้องเร็วเท่ากับ 4 โรคดังกล่าวข้างต้นได้แก่ การเจ็บแน่นหน้าอกจากโรคปอดเช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ จากหัวใจที่ไม่ใช่โรคของหลอดเลือดหัวใจเช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคของระบบทางเดินอาหารเช่น กรดในกระเพาะย้อนกลับหลอดอา หาร (reflux esophagitis) โรคแผลในกระเพาะ โรคตับอ่อนอักเสบ ฝีในตับ หรือโรคของถุงน้ำดี หากได้รับการตรวจที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่ถูกต้องตรงกับโรคเช่น เป็นโรคกระเพาะแต่ถูกให้เป็นโรคหัวใจ ทำให้เกิดความเครียด
      บางท่านอาจสงสัยว่าโรคทางเดินอาหารมาเกี่ยวอะไรด้วย ทำไมถึงแยกไม่ออกจากโรคหัวใจ หมอก็ขอให้ทุกคนลองเอามือวางไว้ที่ลิ้นปี่ซิคะ ตรงนั้นแหละเป็นที่อยู่ของกระเพาะอาหาร มันอยู่ใกล้หัวใจหรือเปล่าคะ ในบางท่านที่ผอมๆอาจรู้สึกว่ามีอะไรเต้นตุ๊บๆอยู่ที่มือ ลึกลงไปตรงนั้นเป็นที่อยู่ของตับอ่อน ด้าน ขวาเป็นที่อยู่ของตับและถุงน้ำดี เมื่อเกิดโรคกับอวัยวะที่อยู่ด้านบนของช่องท้องเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ บางครั้งการที่มีกรดล้นขึ้นมาจากกระเพาะทำให้อาการเหมือนโรคหัวใจมาก แยกออกได้ยากมาก การวินิจฉัยแยกโรคต้องอาศัยประวัติอื่นๆร่วมเช่น ถ้าเป็นโรคกระเพาะ ก็มักมีประวัติเป็นมากตอนท้องว่างหรืออิ่มมาก เรอเปรี้ยว เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการเจ็บมักจะสัมพันธ์กับการหายใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบก็มักเป็นมากเวลาเอนตัวลงนอน อย่างไรก็ตาม เพียงอาการอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ในทันที ต้องแยกโรคอันตรายออกไปก่อน ด้วยการสืบค้นเพิ่มเติมเช่น อาศัยการเจาะเลือดและตรวจพิเศษทางเอกซเรย์ร่วมด้วย
      ข. อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากภาวะที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก่อให้เกิดความกังวลใจ  เสียเงินเสียทองมากมายในการตรวจ ภาวะเจ็บหน้าอกเหล่านี้อาจเกิดจาก
1. กล้ามเนื้ออักเสบ
2. กระดูกอ่อนอักเสบ
3. โรคพานิค (Panic)
4. โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ
5. หลอดเลือดหัวใจหดตัวผิดปกติ  (coronary spasm)
     โรคเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิตโดยเฉพาะโรค Panic อาการเจ็บหน้าอกอาจนานเป็นหลายเดือน บางครั้งก็เป็นๆหายๆ ยาวนานเป็นปี เที่ยวตระเวณหาหมอหลายๆคน ได้รับการตรวจวินิจฉัยไปต่างๆนานา จนสำคัญผิดคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจทั้งๆที่ไม่เป็น บ่อยครั้งที่ได้รับการบอกกล่าวว่าไม่เป็นโรคหัวใจ ก็ไม่เชื่อทั้งนี้เพราะตนเองยังมีอาการอยู่ ก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก ภาวะเจ็บหน้าอกจากภาวะนี้หมอจะรักษาอย่างไรก็ไม่หายเจ็บสักที ใครที่เป็นโรคนี้มักหายยาก ไม่ใช่โรคประสาท แต่เป็นเรื่องของความผิดปกติที่ระดับฮอร์โมนของระบบประสาท (neurotransmiter) การรักษาต้องใช้เวลา แพทย์ต้องให้ความมั่น ใจแก่ผู้ป่วยว่า โรคนี้ไม่อันตราย (แต่ต้องไม่อันตรายจริงๆนะ) รักษาหายได้ อาจต้องใช้ยาและการออกกำลังกายร่วมด้วย อาการผู้ป่วยจะค่อยดีขึ้นๆ ถือว่าต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างมาก หมอเคยพบผู้ป่วยท่านหนึ่งไปพบแพทย์หัวใจมาแล้ว 5 โรงพยาบาลได้รับการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography) มา 5 ครั้ง เจ็บก็ไม่หายแถมเจ็บอกมากขึ้นเนื่องจากเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณอกเพราะจากการตรวจ  นี่เป็นเพราะความไม่มั่นใจ
      กล่าวโดยสรุปอาการเจ็บหน้าอกสามารถเกิดจากโรคต่างๆได้มากมายทั้งที่มีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตและไม่อันตราย ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ สำหรับแพทย์ อันดับแรกต้องนึกถึงและแยกโรคที่อันตรายออกไปก่อน เพื่อที่จะรักษาโรคอันตรายนั้นให้ทันกับเวลา หากไม่ใช่โรคดังกล่าวจึงค่อยมาตรวจวินิจฉัยว่า เป็นโรคใดกันแน่  สำหรับผู้ป่วยและญาติหากไม่แน่ใจ ให้มาโรงพยาบาลก่อนเป็นดีที่สุดค่ะ เพราะการวินิจฉัยแยกโรคจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะให้การรักษา จำเป็นต้องทำการสืบค้นโดยใช้อุป กรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ช่วย หัวใจสำคัญของการรักษาภาวะเจ็บหน้าอกก็คือ การรักษาโรคอันตรายให้ได้ทันเวลา เพราะฉะนั้นถ้าคุณเจ็บหน้าอกแบบที่ในชีวิตนี้ไม่เคยเจ็บมาก่อนหรือไม่แน่ใจว่าจะเป็นสี่โรคอันตรายดังกล่าวข้างต้น ให้มาพบแพทย์ทันทีเลย แต่ถ้าเจ็บแน่นหน้าอกเป็นๆหายๆรักษาไม่หายสักที ก็ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์หัวใจและขอให้มั่นใจกับการวินิจฉัยของแพทย์ที่คุณเชื่อถือเขามากที่สุดค่ะ คุณก็จะปลอดภัยจากภาวะเจ็บหน้าอก แต่ถ้าเจ็บใจเพราะใครทำช้ำใจ หมอหัวใจที่ไหนก็ช่วยไม่ได้นะคะ ต้องถามใจตัวเองค่ะ แก้ไขที่ต้นเหตุแล้วอาการเจ็บใจก็จะหายไปได้เองค่ะ

1 ความคิดเห็น: