บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ หรือ การตรวจเอคโค่ ( Echocardiography ) ?


ทำไงดี เมื่อเจ็บหน้าอก?


                                                                                                                                                                  พญ.ธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์
     “หมอครับ ถ้าผมมีอาการเจ็บหน้าอกที่บ้าน ผมควรทำตัวอย่างไรดีครับ” เป็นคำถามที่ตอบได้ยากพอสมควร ง่ายที่สุดก็คือ ถ้าเจ็บหน้าอกก็นั่งพักแล้วสูดหายใจเข้าออกลึกๆ ไม่ต้องตกใจ เพราะอาการเจ็บหน้าอกเป็นได้จากสาเหตุมากมาย ตั้งแต่อันตรายถึงชีวิตจนกระทั่งไม่มีโรคอะไรเลยก็ได้ ทีนี้เรามาเรียนรู้ถึงสาเหตุของอาการเจ็บแน่นหน้าอกก่อนว่าเป็นได้จากอะไรได้บ้าง เพื่อให้ง่ายในการเรียนรู้ จะขอแบ่งสาเหตุอย่างหยาบๆเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆได้แก่
     ก. อาการเจ็บแน่นหน้าอกจากโรคที่ทำให้เกิดอันตรายอาจถึงแก่ชีวิต ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว (นาทีหรือชั่วโมง) จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนทันที ทันใดได้แก่
1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน  (Acute  coronary  syndrome)
2. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดหรือแตกเซาะ (Aortic dissection)
3. โรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด  (Pulmonary  embolism )
4. โรคถุงลมปอดแตกเฉียบพลัน (Tension pneumothorax)
โรคดังกล่าวเหล่านี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขึ้นมาอย่างทันทีทันใด อาจร่วมกับอาการหายใจลำบาก หากเกิดเจ็บแน่นหน้าอกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในชีวิต ก็ควรจะมาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอันตรายเหล่านี้ออกไปก่อน เพราะโรคทั้ง 4 โรคดังกล่าวข้างต้น หากรักษาได้ทันเวลาจะมีโอกาสหายได้ แต่ถ้ารักษาช้าการพยากรณ์โรคก็จะไม่ดี  ตัวอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ถ้ามาถึงโรงพยาบาลและสามารถเปิดหลอดเลือดได้ก่อน 3 ชั่ว โมง  กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกเลี้ยงด้วยหลอดเลือดนั้นก็จะถูกทำลายน้อยมาก( ประมาณ 10%) ในทางกลับกัน ถ้าทิ้งไว้ไม่แก้ไขให้ทันท่วงทีกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นก็จะเสียไปมากขึ้นตามเวลาที่ล่าช้า ตัวอย่างเช่น คนไข้เจ็บหน้าอกตอนเที่ยงคืน แต่ด้วยความเกรงใจลูกหลาน ทนรอจนกระทั่งเช้าวันใหม่ก็ยังไม่บอก รอจนทนไม่ไหวหรือรอให้ลูกหลานกลับจากที่ทำงาน หากเวลาผ่านไปมากกว่า 12 ชั่วโมงค่อยพามาพบแพทย์ ถึงเวลานั้นกล้ามเนื้อหัวใจได้ถูกทำลายไปเกือบหมด (มากกว่า 90%)  แม้แพทย์จะพยายามเปิดหลอดเลือดให้ ประโยชน์ที่ได้รับก็น้อยมากๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของเจ็บหน้าอก  เวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก มากเสียยิ่งกว่าการเจ็บอกเป็นแบบไหนกันแน่ 
     สรุปง่ายๆตรงนี้คือถ้าเจ็บหน้าอก แบบว่าชีวิตนี้ไม่เคยเจ็บมาก่อน ให้รีบมาพบแพทย์ ถ้าเจอหมอที่ห้องฉุกเฉินเล่าอาการให้หมอฟังแล้วขออนุญาตตรวจคลื่นหัวใจด้วย  เพราะบางครั้งลักษณะการเจ็บหน้าอกอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ ต้องอาศัยการตรวจคลื่นหัวใจและตรวจเลือดร่วมด้วย  ในผู้ป่วยบางคนผลเลือด และผลคลื่นหัวใจ ณ ที่ชั่วโมงแรกอาจไม่พบความผิดปกติเลย ต้องรออีก 3-6 ชั่วโมง จึงจะพบความผิดปกติ ทำไมดูมันยากอย่างนั้น แล้วจะเชื่ออะไรดีล่ะ ขอแนะนำให้เชื่อความรู้สึกของตัวเองดีที่สุด หากไม่สบายเจ็บแน่นหน้าอกแบบที่ไม่เคยเจ็บมาก่อน ขอให้นอนโรงพยาบาลและติดตามอาการอย่างใกล้ ชิดดีที่สุดเพียงแค่คืนเดียวก็ให้คำตอบได้แล้วค่ะ ดีกว่าเสียโอกาสทองที่จะได้รักษากล้ามเนื้อหัวใจที่ดีๆเอา ไว้  ที่ต่างประเทศหรือโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในเมืองไทย  ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลคัดกรองผู้ป่วยเจ็บหน้าอกหรือ chest pain center เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกให้ทันเวลาโดยเฉพาะ เหตุเนื่องจากเวลาเป็นสิ่งสำคัญ และการวินิจฉัยโดยทั่วไปๆอาจผิดพลาดได้ ต้องรอการตรวจพิเศษ และการติดตามการรักษาด้วย
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตช้ากว่ากลุ่มแรก มีอันตรายน้อยกว่า แต่ยังจำเป็น ต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในเวลาที่อาจไม่ต้องเร็วเท่ากับ 4 โรคดังกล่าวข้างต้นได้แก่ การเจ็บแน่นหน้าอกจากโรคปอดเช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ จากหัวใจที่ไม่ใช่โรคของหลอดเลือดหัวใจเช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคของระบบทางเดินอาหารเช่น กรดในกระเพาะย้อนกลับหลอดอา หาร (reflux esophagitis) โรคแผลในกระเพาะ โรคตับอ่อนอักเสบ ฝีในตับ หรือโรคของถุงน้ำดี หากได้รับการตรวจที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่ถูกต้องตรงกับโรคเช่น เป็นโรคกระเพาะแต่ถูกให้เป็นโรคหัวใจ ทำให้เกิดความเครียด
      บางท่านอาจสงสัยว่าโรคทางเดินอาหารมาเกี่ยวอะไรด้วย ทำไมถึงแยกไม่ออกจากโรคหัวใจ หมอก็ขอให้ทุกคนลองเอามือวางไว้ที่ลิ้นปี่ซิคะ ตรงนั้นแหละเป็นที่อยู่ของกระเพาะอาหาร มันอยู่ใกล้หัวใจหรือเปล่าคะ ในบางท่านที่ผอมๆอาจรู้สึกว่ามีอะไรเต้นตุ๊บๆอยู่ที่มือ ลึกลงไปตรงนั้นเป็นที่อยู่ของตับอ่อน ด้าน ขวาเป็นที่อยู่ของตับและถุงน้ำดี เมื่อเกิดโรคกับอวัยวะที่อยู่ด้านบนของช่องท้องเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ บางครั้งการที่มีกรดล้นขึ้นมาจากกระเพาะทำให้อาการเหมือนโรคหัวใจมาก แยกออกได้ยากมาก การวินิจฉัยแยกโรคต้องอาศัยประวัติอื่นๆร่วมเช่น ถ้าเป็นโรคกระเพาะ ก็มักมีประวัติเป็นมากตอนท้องว่างหรืออิ่มมาก เรอเปรี้ยว เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการเจ็บมักจะสัมพันธ์กับการหายใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบก็มักเป็นมากเวลาเอนตัวลงนอน อย่างไรก็ตาม เพียงอาการอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ในทันที ต้องแยกโรคอันตรายออกไปก่อน ด้วยการสืบค้นเพิ่มเติมเช่น อาศัยการเจาะเลือดและตรวจพิเศษทางเอกซเรย์ร่วมด้วย
      ข. อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากภาวะที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก่อให้เกิดความกังวลใจ  เสียเงินเสียทองมากมายในการตรวจ ภาวะเจ็บหน้าอกเหล่านี้อาจเกิดจาก
1. กล้ามเนื้ออักเสบ
2. กระดูกอ่อนอักเสบ
3. โรคพานิค (Panic)
4. โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ
5. หลอดเลือดหัวใจหดตัวผิดปกติ  (coronary spasm)
     โรคเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิตโดยเฉพาะโรค Panic อาการเจ็บหน้าอกอาจนานเป็นหลายเดือน บางครั้งก็เป็นๆหายๆ ยาวนานเป็นปี เที่ยวตระเวณหาหมอหลายๆคน ได้รับการตรวจวินิจฉัยไปต่างๆนานา จนสำคัญผิดคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจทั้งๆที่ไม่เป็น บ่อยครั้งที่ได้รับการบอกกล่าวว่าไม่เป็นโรคหัวใจ ก็ไม่เชื่อทั้งนี้เพราะตนเองยังมีอาการอยู่ ก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก ภาวะเจ็บหน้าอกจากภาวะนี้หมอจะรักษาอย่างไรก็ไม่หายเจ็บสักที ใครที่เป็นโรคนี้มักหายยาก ไม่ใช่โรคประสาท แต่เป็นเรื่องของความผิดปกติที่ระดับฮอร์โมนของระบบประสาท (neurotransmiter) การรักษาต้องใช้เวลา แพทย์ต้องให้ความมั่น ใจแก่ผู้ป่วยว่า โรคนี้ไม่อันตราย (แต่ต้องไม่อันตรายจริงๆนะ) รักษาหายได้ อาจต้องใช้ยาและการออกกำลังกายร่วมด้วย อาการผู้ป่วยจะค่อยดีขึ้นๆ ถือว่าต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างมาก หมอเคยพบผู้ป่วยท่านหนึ่งไปพบแพทย์หัวใจมาแล้ว 5 โรงพยาบาลได้รับการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography) มา 5 ครั้ง เจ็บก็ไม่หายแถมเจ็บอกมากขึ้นเนื่องจากเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณอกเพราะจากการตรวจ  นี่เป็นเพราะความไม่มั่นใจ
      กล่าวโดยสรุปอาการเจ็บหน้าอกสามารถเกิดจากโรคต่างๆได้มากมายทั้งที่มีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตและไม่อันตราย ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ สำหรับแพทย์ อันดับแรกต้องนึกถึงและแยกโรคที่อันตรายออกไปก่อน เพื่อที่จะรักษาโรคอันตรายนั้นให้ทันกับเวลา หากไม่ใช่โรคดังกล่าวจึงค่อยมาตรวจวินิจฉัยว่า เป็นโรคใดกันแน่  สำหรับผู้ป่วยและญาติหากไม่แน่ใจ ให้มาโรงพยาบาลก่อนเป็นดีที่สุดค่ะ เพราะการวินิจฉัยแยกโรคจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะให้การรักษา จำเป็นต้องทำการสืบค้นโดยใช้อุป กรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ช่วย หัวใจสำคัญของการรักษาภาวะเจ็บหน้าอกก็คือ การรักษาโรคอันตรายให้ได้ทันเวลา เพราะฉะนั้นถ้าคุณเจ็บหน้าอกแบบที่ในชีวิตนี้ไม่เคยเจ็บมาก่อนหรือไม่แน่ใจว่าจะเป็นสี่โรคอันตรายดังกล่าวข้างต้น ให้มาพบแพทย์ทันทีเลย แต่ถ้าเจ็บแน่นหน้าอกเป็นๆหายๆรักษาไม่หายสักที ก็ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์หัวใจและขอให้มั่นใจกับการวินิจฉัยของแพทย์ที่คุณเชื่อถือเขามากที่สุดค่ะ คุณก็จะปลอดภัยจากภาวะเจ็บหน้าอก แต่ถ้าเจ็บใจเพราะใครทำช้ำใจ หมอหัวใจที่ไหนก็ช่วยไม่ได้นะคะ ต้องถามใจตัวเองค่ะ แก้ไขที่ต้นเหตุแล้วอาการเจ็บใจก็จะหายไปได้เองค่ะ

เมื่อต้องทำผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (บายพาสหัวใจ )

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ที่ดีที่สุดคือ ทำความเข้าใจกับการผ่าตัด และการดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังผ่าตัด
เมื่อหมอแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
คำถามที่อยู่ในใจผู้ป่วยคือ
1. การผ่าตัดบายหัวใจ หรือเรียกเต็ม ๆ ว่าการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคืออะไร
2. ต้องเตรียมตัวผ่าตัดอย่างไร
3. การผ่าตัดบายพาสหัวใจต้องทำอย่างไร
4. การผ่าตัดใช้เวลานานเท่าไร
5. ต้องพักฟื้นนานเท่าไหร่
6. การผ่าตัดจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่
7. ผ่าตัดแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำอีกหรือไม่
8. ผ่าตัดแล้วยังต้องกินยาอีกต่อหรือไม่
9. หลังผ่าตัดจะกลับไปมีชีวิตประจำวันเหมือนคนอื่นได้หรือไม่ 
          ขอตอบคำถามในใจผู้ป่วยที่ละคำถามก่อนนะคะ
1. การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคืออะไร?
    การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจคือ การผ่าตัดที่นำหลอดเลือดที่ขาและหลอดเลือดอื่นๆ ในร่าง กายมาทำการเบี่ยงต่อเข้ากับหลอดเลือดหัวใจหลังบริเวณที่ตีบตัน
 รูปภาพ – หัวใจกับ  Bypass (CABG)
 รูปภาพ -  รถติดบริเวณไฟแดง แล้วมี  สะพานข้าม
เปรียบเสมือนถนนที่มีการจราจรติดขัดมากๆ รถไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้ ถนนปกติเปรียบเสมือนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ รถเปรียบเหมือนประชากรเม็ดเลือด (ซึ่งจะนำออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ)  การทำบายพาสหลอดเลือดก็เปรียบเสมือนการสร้างสะพานใหม่ข้ามบริเวณที่รถติด (จุดที่อุดตันของหลอดเลือด)นั่นเอง
2. ต้องเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอย่างไร?
    โดยปกติเมื่อแพทย์ ผู้ป่วย และญาติได้ปรึกษากันแล้วว่า จะต้องทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ส่วนใหญ่จะมีเวลาให้เตรียมตัวเตรียมใจอย่างน้อยประมาณ 5-7 วัน เนื่องจากผู้ป่วยต้องงดยาต้านเกร็ดเลือด (ได้แก่ยาแอสไพริน และหรือ ยาพลาวิค) เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจทุกท่านต้องได้รับยาต้านเกร็ดเลือดอยู่แล้ว ยาต้านเกร็ดเลือดจะทำให้เลือดหยุดยาก อาจมีปัญหาตอนผ่าตัด เพราะฉะนั้นจึงต้องหยุดยาก่อนผ่าตัด 5-7 วัน จะหยุดนานกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะอาจเกิดเหตุ heart attack  ขึ้นระหว่างหยุดยาต้านเกร็ดเลือดได้ อันดับต่อไปคือ ต้องฝึกหายใจยาวๆเหมือนการนั่งสมาธิ หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้และหายใจออกช้า การหายใจลึกๆช้าๆ จะป้องกันการเกิดปอดแฟบ ทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำได้ เพราะหลังผ่าตัดจะต้องมีแผลที่หน้าอกซึ่งทำให้เจ็บและไม่อยากหายใจ ต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องหายใจแทน ผู้ป่วยบางท่านอาจจะหายใจเข้าลึกๆไม่เป็น ลองสูดหายใจเข้าเหมือนถอนใจหรือดมยาดม แล้วกลั้นไว้ นับหนึ่ง-สอง-สาม หลังจากนั้นปล่อยออกมาช้าๆเหมือนเป่าหนังสะติ๊ก (เวลาเล่นตอนเด็กๆ) หรือเป่าเค้กวันเกิด ออกทางปากการเป่าออกช้าๆจะทำให้ถุงลมเล็กในปอดไม่หดเข้ามาติดกัน และไม่เกิดปอดแฟบ
 การเตรียมตัวที่เหลือจะเป็นของแพทย์และพยาบาล ก็จะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ ตับ ไต หัวใจ ภาวะโภชนาการ ดูความเข้มข้นของเม็ดเลือด ดูการทำงานของปอด ตรวจหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองในผู้สูงอายุมากๆ เพื่อดูว่ามีการตีบตันหรือไม่ เตรียมเลือดที่จะใช้ระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายจะเกณฑ์ญาติมาบริจาคโลหิตไว้ก่อน ที่เหลือก็แค่ทำใจให้สบาย กินยาอื่นๆไปตามปกติ รับประทานอาหารตามปกติ เตรียมตัวเข้าสู่สมรภูมิอย่างองอาจ นอนหลับให้สบาย
3-5 การผ่าตัดทำอย่างไร   และใช้เวลานานเท่าไหร่  และต้องพักฟื้นนานแค่ไหน 
 ที่นี้ก็มาถึงเวลาอันระทึกใจแล้ว เมื่อถึงวันก่อนผ่าตัดหรือวันสุกดิบ ผู้ป่วยก็ต้องอดอาหารหลังเที่ยงคืน เพื่อให้ท้องว่าง ได้รับการทำความสะอาดบริเวณหน้าอก แขนและขาทั้งสองข้าง เพื่อเลาะเอาหลอดเลือดมาใช้ต่อบายพาส การผ่าตัดจะทำภายใต้การดมยาสลบ ร่วมกับฉีดยาสลบผู้ป่วยก็จะไม่รู้เรื่อง (หายตื่นเต้นสักที) วิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา) จะใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจช่วยผู้ป่วยหายใจ
ที่นี้มาแอบดูกันว่าหลังจากผู้ป่วยสลบไปแล้วคุณหมอทำอะไรกับเราบ้าง ทีมศัลยแพทย์ส่วนใหญ่จะมีมากกว่า 3-4 ท่าน แบ่งเป็นสองทีม ทำงานไปพร้อมกัน ทีมหนึ่งจะเปิดหน้าอกโดยตัดแบะกระดูกสันอกออก ทำการต่อหลอดเลือดที่เข้าออกหัวใจไปเข้าเครื่องปอดเทียมหัวใจเทียม(Cardiopulmonary bypass, CPB) สมกับชื่อของมันจริงๆ เครื่องนี้จะทำหน้าที่แทนหัวใจและปอดของผู้ป่วยขณะที่หัวใจหยุดเต้น ในระหว่างนั้นศัลย์แพทย์อีกทีมหนึ่งก็จะลงไปเลาะหลอดเลือดที่จะเอามาต่อ (เหมือนกับไปเตรียมสะพานสำเร็จรูปมา) ส่วนใหญ่จะเอาหลอดเลือดดำจากขา หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเต้านม และหรือที่บริเวณข้อมือ อาจเป็นข้าง ซ้ายหรือขวาหรือทั้งสองข้าง ก็แล้วแต่ศัลยแพทย์จะเห็นเหมาะสม
       หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะทำให้หัวใจหยุดเต้น โดยการทำให้หัวใจเย็นลงด้วยน้ำเกลือพิเศษที่แช่มาเย็นเจี๊ยบ เมื่อหัวใจหยุดเต้นแล้ว เขาก็จะต่อส่วนต้นของหลอดเลือดที่เลาะมาเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่และต่อปลายอีกด้านหนึ่งของหลอดเลือด (สะพานสำเร็จรูป) เข้ากับหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งหลังบริเวณที่ตีบ ต่อแบบนี้จนครบทุกเส้นที่ตีบตัน (โดยปกติ 3-5 เส้น) เมื่อครบตามที่วางแผนไว้ ก็จะเอาเลือดกลับเข้าหัวใจอีกครั้ง ปิดเยื่อหุ้มหัวใจ เย็บปิดกระดูกสันอกและผิวหนัง หลังจากนั้นวิสัญญีแพทย์จะทำให้ผู้ป่วยตื่น  ส่วนใหญ่จะคาท่อช่วยหายใจไว้ก่อน
       ผู้ป่วยจะตื่นมาด้วยความงงๆ เจ็บแผลผ่าตัด (ถึงแม้จะได้ยาแก้ปวดแล้วก็ตาม) ผู้ป่วยจะถูกย้ายไปห้องพักฟื้นและห้องซีซียู (CCU) หรือหออภิบาลหัวใจ และดูแลอย่างใกล้ชิด เวลาที่ใช้ผ่าตัดทั้งหมดตกประ มาณ 2-4 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความยากง่าย หรือจำนวนเส้นที่ต่อ
หลังจากนั้นจะนอนอยู่ในหออภิบาลหัวใจจนผู้ป่วยปลอดภัย หายใจได้เองจึงเอาท่อช่วยหายใจออก หยุดยากระตุ้นหัวใจทุกชนิด ลุกนั่งบนและข้างเตียง หรือเดินภายในห้องและในหออภิบาล หากทำได้ดีไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเกิดอันตรายกับผู้ป่วย แพทย์จึงจะอนุญาตให้ย้ายขึ้นไปพักฟื้นที่ห้องปกติได้ ตรงนี้ปกติมักเป็นวันที่ 3 หรือ 4 หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการทำกายภาพบำบัดต่อไปอีกจนแพทย์ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน โดยปกติผู้ป่วยจะอยู่ในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ย 1 สัปดาห์นับตั้งแต่วันผ่าตัด (ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ)
6. การผ่าตัดจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่?
    เราจะแก่เกินไปหรือเปล่าที่จะรับการผ่าตัดหัวใจ
 แน่นอน! การผ่าตัดทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยง อัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัว ใจ อยู่ที่ประมาณ 2-4% ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด หมอดมยาหรือวิสัญญีแพทย์ และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด
 ถามว่าถ้าอายุมากจะผ่าตัดได้หรือ อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการผ่าตัดทุกชนิดโดยเฉพาะผ่า ตัดหัวใจ หากอายุมากขึ้นความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า อายุมากจะผ่าไม่ได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาผ่าตัดล้วนแต่อายุมากทั้งนั้น  ผู้ป่วยบางท่านอายุ 70-80 ปี แต่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ก็สามารถรับการผ่าตัด โดยอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่อายุ 40 แต่หัวใจ ตับ ไต ทำงานไม่ดีด้วยซ้ำไป
7. ผ่าตัดแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำอีกหรือไม่
   โดยทั่วไปถ้าได้รับการต่อหลอดเลือดประสบความสำเร็จ โอกาสเป็นซ้ำจะอยู่ที่ 50% หลังผ่าตัด 10 ปี  (ถ้าใช้หลอดเลือดดำ) และโอกาสตีบซ้ำจะน้อยลงไปกว่านี้อีก ถ้าใช้หลอดเลือดแดงต่อ ยังไงก็ต้องเตรียม ตัวเตรียมใจไว้ว่า  หลัง 10 ปีแล้วโอกาสจะเป็นซ้ำประมาณครึ่งหนึ่ง
8. ผ่าตัดแล้วต้องกินยาต่อหรือไม่
   แน่นอนที่สุด หลังผ่าตัดผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดยาได้ จำเป็นต้องกินยาต่อไปเหมือนกับก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการตีบซ้ำ ยาที่ต้องกินต่อแน่ๆก็คือ ยาต้านเกร็ดเลือด หากหยุดอาจก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงต่อหลอดเลือดใหม่ที่นำมาต่อไว้ นอกจากนี้ยังคงต้องปรับเปลี่ยนลีลาชีวิตต่อไปอีกด้วย ดังนั้นหลังผ่าตัดยังไงก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพเหมือนๆหรือดีกว่าก่อนผ่าตัด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ใหม่ๆ จะกินยาตลอด ปฏิบัติตนดีเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง แต่พอเวลาผ่านไปนานขึ้นๆ ไม่เห็นมีอาการผิดปกติ เกิดความเบื่อและประมาท เลิกดูแลตนเอง ไม่กินยาและกลับไปหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องระมัดระวังให้มากๆ
9. หลังผ่าตัดจะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้หรือไม่ และเมื่อไร
   ขอเพียงแต่ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งหรือแนะนำ มาพบแพทย์ตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัดอย่างถูกต้อง หลังจากผ่าตัด 4-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ออกกำลังได้ ขับรถได้ ไปเที่ยวต่างประเทศได้ มีเพศสัมพันธ์ได้ (กับคู่คนเดิมนะคะ) โดยไม่ต้องกังวลอะไรอีก

ผลข้างเคียงหรือแพ้ยากันแน่?


พญ.ธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์
     เมื่อหมอสั่งยาให้ผู้ป่วยไปรับประทานที่บ้าน หากรู้สึกไม่สบายไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ กฎเหล็กก็คือ ปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยาตัวนั้นด่วน เพราะแพทย์ผู้ให้ยาเท่านั้นที่จะให้คำแนะนำได้ดีที่สุด เพราะการหยุดยาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้เป็นผลเสียถึงชีวิต หรือการทนกินยาต่อไปก็เช่นเดียวกัน อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ก่อนอื่นมารู้จักคำว่า แพ้ยา และ ผลข้างเคียงของยาเสียก่อน
แพ้ยา หมายถึง ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านต่อสารอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่ในตัวยานั้น อาการเริ่มแรกคือมีผื่นคันตามตัว ต่อมาจะมีตาบวม ปากบวม รู้สึกหายใจมีเสียงหืดหอบ หายใจลำบาก ลิ้นจุกปาก พูดไม่ชัด เพราะอวัยวะบริเวณในลำคอบวม อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหนึ่งถึงสองชั่วโมงแรกหลังรับประทานยาลงไป หรือเกิดขึ้นทันทีหลังได้รับยาฉีด ระดับการแพ้มีหลายระดับ อาจเป็นตั้งแต่รุนแรง ที่เรียกว่าอะนาไฟเลคซีส (Anaphylaxis) ที่เห็นเป็นข่าวหนังสือพิมพ์อยู่ประจำ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตหลังฉีดยาทันที ภาวะนี้เป็นภาวะที่ควบคุมไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าผู้ป่วยรายใดจะเกิดอาการแบบนี้ขึ้น ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของภาวะนี้ต่ำมากๆ แต่คงไม่มีใครอยากให้มันเกิดกับเรา ครอบครัวเราหรือคนไข้เราเป็นแน่นอน ภาวะนี้ถ้ารักษาทันผู้ป่วยจะรอดชีวิต และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร แต่ถ้าล่าช้าก็จะเกิดเป็นเรื่องเศร้าแน่นอน หมออยากให้แนวทางสั้นๆในการป้องกันภาวะนี้ไว้
     ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ว่า แพ้ยาอะไรอยู่บ้างทุกๆครั้งที่แพทย์จะสั่งยาตัวใหม่ให้ เพื่อแพทย์จะได้ไม่สั่งยาในกลุ่มเดียวกันกับที่เคยแพ้ให้
ผู้ป่วยควรจดบันทึกส่วนตัวไว้ทุกครั้ง ถ้ารับประทานยาแล้วเกิดอาการข้างเคียง
ถ้าผู้ป่วยรับประทานยาแล้วเกิดผื่นคัน ให้รีบโทรแจ้งแพทย์ทันที เพื่อแพทย์จะได้ประเมินอาการและช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที
     ผลข้างเคียงของยา (ไม่ใช่แพ้ยา) ยาโรคหัวใจเกือบทุกชนิดมักมีผลข้างเคียง ภาวะนี้ไม่ใช่แพ้ยา แต่เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาที่ได้ ภาวะนี้จะพบบ่อยกว่าการแพ้ยา ยกตัวอย่างเช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางตัวทำให้ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ ท้องผูก เท้าบวมชนิดกดบุ๋ม ยารักษาโรคหัวใจบางอย่างทำให้ไอแห้งๆ หรือยาต้านเกร็ดเลือดอาจทำให้แผลในกระเพาะกำเริบขึ้น ทำให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น โรคเก๊าท์กำเริบ ยาขับปัสสาวะบางอย่างทำให้เต้านมโตแข็งในผู้ชาย ยาลดความดันบางอย่างทำให้นอนไม่หลับ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ยารักษาโรคเก๊าท์ทำให้ท้องเสีย ยาปฏิชีวนะบางตัวทำให้คลื่นไส้อาเจียน ยารักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจทำให้เป็นโรคไทรอยด์ทั้งเป็นพิษและต่ำ เกิดผังผืดในปอด ยาลดโคเลสเตอรอลอาจทำให้ตับอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อลาย เป็นต้น
     ยังมีผลข้างเคียงอีกมากมายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ที่พบบ่อยคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน แค่นี้ก็มากพอที่จะไม่อยากทนกินยาอีกต่อไปแล้ว ถ้าคุณกินยาแล้วมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นก็ควรจะแจ้งแพทย์ให้ทราบโดยละเอียด เพราะแพทย์จะรู้ว่ายาตัวไหนที่คุณกินอยู่ออกฤทธิ์อย่างไร มีผลข้างเคียงอย่างไร ควรจะแก้ไขอย่างไร ผู้ป่วยบางท่านทานยารักษาความดันแล้วอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันร้าย นอนไม่หลับมีปัญหาครอบครัวแต่เกรง ใจหมอ ไม่กล้าบอกเลยตัดสินใจหยุดกินยาความดันเอง และหันหลังให้แก่โรงพยาบาลตลอดไป กลับมาเจอกันอีกทีก็ตอนเส้นเลือดในสมองแตกแล้ว ที่จริงแล้วแค่บอกความจริงแก่แพทย์ก็สามารถเปลี่ยนยาเป็นยาตัวอื่นได้ อันว่าผลข้างเคียงของยานี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดกับทุกคน ผู้ป่วยบางคนรับยาแบบเดียวกัน แต่ไม่มีผลข้างเคียงของยาแบบนั้นก็มี เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาเป็นรายๆไป
     ผลข้างเคียงของยาบางครั้งก็มีประโยชน์ สามารถนำผลข้างเคียงนั้นมาใช้ในทางการรักษา ยกตัวอย่างเช่น ยาไวอะกร้า (Viagra) แรกเริ่มเดิมทีเป็นยาที่ผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคหัวใจขาดเลือด มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหัวใจเหมือนยาไนเตรท (Nitrate) ผู้ป่วยที่เข้าโครงการทดลองยานี้หลังได้รับประทานยาพบว่า อาการเจ็บแน่นหน้าอกไม่ดีขึ้น แต่มีผู้ป่วยรายหนึ่งมากระซิบบอกแพทย์ว่า หลังกินยาแล้วอวัยวะเพศที่ไม่เคยแข็งตัวเลยกลับมาแข็งตัวใหม่ ทำให้ทีมแพทย์ต้องกลับไปศึกษายาตัวนี้ใหม่เป็นที่ฮือฮากันมาก หลังจากนั้นแพทย์ได้เรียกยาตัวนี้กลับจากผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการ เนื่องจากเกรงว่าทานแล้วจะมีอันตรายต่อหัวใจ แต่ไม่มีใครยอมคืนยาเลย (อ้างว่าทิ้งไปหมดแล้ว) หลังการศึกษายาตัวนี้ก็ได้ออกจำหน่ายเพื่อรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทำให้บริษัทที่ผลิตยานี้ร่ำรวยเพราะขายยาได้เหมือนเป็นเทน้ำเทท่า เพียงแค่ขายผลข้างเคียงของยานี้นั่น เอง แต่ยานี้ก็มีข้อห้ามใช้ร่วมกับยาไนเตรท เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำมากจนถึงขั้นเสียชีวิต ยังมียาอีกตัวหนึ่งที่ถูกนำผลข้างเคียงมาใช้เพื่อการรักษา นั่นคือ ยารักษาความดันที่ชื่อว่า ไมนอกซิดิวล์ (Minoxidil) ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงทำให้ขนดก จึงมีคนหัวใส (อาจจะเป็นเพราะมีผมน้อย) ผลิตยานี้ออกมาในรูปยาทา ใช้เพื่อปลูกผมโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความดันโลหิตสูงเลย ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกัน
พูดถึงอาการข้างเคียงอีกแบบหนึ่งคือ อาการที่เป็นฤทธิ์ของยาโดยตรง เช่นกินยาลดความดันแล้วทำให้ลุกขึ้นแล้วหน้ามืด อันนี้อาจไม่เรียกว่าอาการข้างเคียง เพราะเป็นฤทธิ์โดยตรงของยาตัวนั้น วัตถุประสงค์เพื่อลดความดัน แต่อาจเป็นเพราะผู้ป่วยอยู่กับความดันโลหิตสูงๆมานานมาก หลอดเลือดในสมองปรับตัวให้เข้ากับความดันโลหิตสูงนั้นไปแล้ว ทำให้เวลาลดความดันอาจลดลงเร็วเกินไป ทำให้สมองผู้ป่วยปรับตัวไม่ทัน การแก้ไขปัญหานี้คือจะต้องให้ยาอย่างช้าๆ ใช้ยาขนาดต่ำแล้วค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกไม่ดีว่าตอนแรกความดันโลหิตสูงไม่เห็นจะรู้สึกอะไร แต่พอลดความดันลงรู้สึกไม่สบาย ทำให้ปฏิเสธการกินยา อันนี้อยากจะทำความเข้าใจให้ผู้ป่วยทราบว่า การมีความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้ควบคุมหรือควบคุมไม่ได้เหมือนมีระเบิดเวลาที่ซ่อนเงียบอยู่ในตัว รอวันระเบิด เพราะฉะนั้นยังไงก็ควรจะหาวิธีควบคุมความดันนี้ให้ได้ อาจจะช้าหน่อย แต่ในที่สุดเราก็จะควบคุมมันได้
      โดยสรุปแล้ว การกินยาก็เพื่อหวังผลรักษา ผลอันไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้ การแพ้ยาเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยากเพราะเราบอกไม่ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับใคร แต่เราทำให้บรรเทาความรุนแรงได้และถ้าให้การรักษาได้รวดเร็วผู้ป่วยจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนเลย ส่วนอาการข้างเคียงของยาในปัจจุบันเกิดขึ้นน้อยลง ยารุ่นใหม่จะมีประสิทธิภาพดี และผลข้างเคียงน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะความรู้ทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ขอเพียงท่านแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบถึงปัญหาของท่าน ทุกอย่างก็จะมีทางแก้